วันที่ 9 มกราคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด 19 ในปี 2565” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 4-6 มกราคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,325 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และโควิด 19 ในปี 2565 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไปในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.34 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 34.72 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ 10.04 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายน้อยลง ร้อยละ 3.77 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะไม่วุ่นวายเลย และร้อยละ 5.13 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.36 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จะอยู่ยาวตลอดทั้งปี รองลงมา ร้อยละ 11.47 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 7.85 ระบุว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 7.32 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จะลาออก ร้อยละ 6.64 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปี ร้อยละ 3.47 ระบุว่า จะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล และทำให้รัฐบาลล่ม ร้อยละ 3.17 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์จะโดนชุมนุมขับไล่ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 1.28 ระบุว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะโดนรัฐประหาร ร้อยละ 0.98 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์จะโดนคดีความทางการเมืองจนต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 16.45 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อม็อบ “กลุ่มสามนิ้ว” ในปี 2565 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.64 ระบุว่า ม็อบจะไปเรื่อย ๆ เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 14.34 ระบุว่า ม็อบจะมีความรุนแรงมากขึ้น ร้อยละ 12.00 ระบุว่า ม็อบจะอ่อนแรงลง ร้อยละ 5.43 ระบุว่า ม็อบจะสามารถยกระดับได้ ร้อยละ 3.92 ระบุว่า ม็อบจะยุติลง ร้อยละ 3.55 ระบุว่า แกนนำม็อบจะโดนคดีความมากขึ้น ร้อยละ 1.58 ระบุว่า ม็อบจะสามารถขับไล่รัฐบาลได้ และม็อบจะโดนสลายการชุมนุมอย่างหนัก ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.13 ระบุว่า ม็อบจะสามารถบรรลุข้อเรียกร้องตามที่ต้องการ ร้อยละ 0.91 ระบุว่า ม็อบจะสามารถเจรจายุติความขัดแย้งกับรัฐบาลได้ และร้อยละ 14.57 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.73 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 34.04 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะเหมือนเดิม และร้อยละ 20.23 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะดีขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปี 2565 ในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2564 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.04 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะรุนแรงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 24.98 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะเหมือนเดิม ร้อยละ 18.72 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะลดน้อยลง และร้อยละ 14.26 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป