จากปัญหาหมูมีราคาแพงส่งผลกระทบกับประชาชนทุกกลุ่ม ขณะที่สาเหตุ หลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสับสน แต่วันนี้ ท็อปนิวส์ จะเปิดข้อมูลเชิงลึกแบบหมดเปลือก
ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนมีรายงานพบการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร African swine fever หรือ ASF ซึ่งหมูที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง มีจุดเลือดออก โดยเฉพาะใบหู ท้อง และขาหลัง โดยหากเกิดโรคนี้กับฟาร์มใดจะทำให้หมูตายฉับพลันทันที
ต่อมาปี 2562 พบการแพร่ระบาดของโรคASF ต่อเนื่องไปกว่า 15 ประเทศรอบประเทศไทย ตั้งแต่ จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ส่งผลให้หมูในต่างประเทศล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ในรายงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO กลับไม่พบว่าประเทศไทยมีการระบาดของ ASF แต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อประเทศเพื่อนบ้านพบการแพร่ระบาดโรค ASF ทำให้เกิดภาวะหมูขาดแคลนในอาเซียน อานิสงค์จึงตกที่ประเทศไทย เพราะการที่ FAO ยืนยันว่าไม่พบการแพร่ระบาดของโรคASF ทำให้ปีประเทศไทยสามารถส่งออกหมูได้ โดยในปี 2563 ประเทศไทย มียอดการส่งออกเนื้อหมูพุ่งกว่าปกติถึง 3 เท่า
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานจำนวนหมูและการส่งออก ระหว่างปี 2562-2564 ดังนี้
ปี 2562 ผลิตสุกร 22.53 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 21.55 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ เพียง 0.98 ล้านตัว
ปี 2563 ผลิตสุกร 22.05 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 19.23 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ พุ่งขึ้นถึง 2.82 ล้านตัว
ปี 2564 ผลิตสุกร 19.27 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 17.99 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 1.28 ล้านตัว ซึ่งเริ่มพบความผิดปกติ เพราะจำนวนผลิตสุกร หายไปกว่า 3 ล้านตัว หากเทียบกับปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์ยังยืนยันไม่พบโรคASFในประเทศไทย พบเพียงการระบาดของโรคเพิร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทําให้แม่สุกรแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบ พบว่าประเทศไทยเริ่มเตรียมพร้อมรับมือโรคASF ในหมูมาตั้งแต่ปี 2562 ยืนยันได้จากมติ ครม. ที่อนุมัติงบประมาณไปแก้ไขปัญหาโรคASFในหมูไปก่อนหน้านี้ทั้งหมด 4 ครั้ง ก่อนที่จะมีมติครั้งที่ 5 วานนี้
สำหรับมติครม.ทั้ง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2564 มีดังนี้
ครั้งแรก วันที่ 9 เมษายน 2562 อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมอนุมัติงบประมาณ จำนวน 53,604,900 บาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ไปดำเนินการ
ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2563 อนุมัติงบกลาง 523,244,500 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาค์แอฟริกาในสุกร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ครั้งที่ 3 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติงบกลาง 279,782,374 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ครั้งที่ 4 วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อนุมัติงบกลาง จำนวน 140,277,426 บาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกร
มติ 4 ครั้ง ครม.อนุมัติงบประมาณไปกว่า 996 ล้านบาท เมื่อรวมกับมติ ครม. ครั้งที่ 5 วันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ครม.อนุมัติงบกลาง วงเงิน 574 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ไปแล้ว 1.5 พันล้านบาท แต่ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ กลับยืนยันว่าไม่พบโรคASFระบาดในประเทศไทย แม้จะมีข้อมูลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่หมูในเล้าตาย รวมถึงคำเตือนจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
แต่จนแล้วจนรอดวานนี้กรมปศุสัตว์ ได้แถลงยอมรับว่า พบโรคASF จากตัวอย่างที่เก็บในโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดนครปฐม นับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันการพบโรคนี้ในประเทศไทย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจะสั่งห้ามส่งออกหมูชั่วคราว 3 เดือน การที่กรมปศุสัตว์ตรวจไม่พบโรคASF ระบาดในประเทศไทย เป็นการปกปิดข้อมูลหรือไม่ เพราะหากยอมรับว่าไทยพบการระบาดของโรคASF จะทำให้ประเทศไทยถูกสั่งห้ามส่งออกหมู ซึ่งนั่นจะกระทบต่อผู้ส่งออกหมูของประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหญ่หรือไม่
จากข้อมูลการผลิตหมูในประเทศไทย มาจากผู้ประกอบการ 88,200 ราย แบ่งเป็น รายย่อย 80,000 ราย มีสุกรประมาณ 39.87 % ของประเทศ ,รายกลาง อัตราผลิตกว่า 17 % อาทิ ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป ,วีซีเอฟ กรุ๊ป ,เอสพีเอ็มฟาร์ม ,กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรปากท่อ , พนัสโภคภัณฑ์ ฯลฯ และรายใหญ่ อาทิ เครือซีพี มีเกษตรกรฟาร์มมาตรฐาน 5,000 ราย คิดเป็น 28.27 % เครือเบทาโกร มีเกษตรกรมาตรฐาน 3,200 ราย คิดเป็น 15.58% จะเห็นได้ว่าเฉพาะรายใหญ่ ก็ผลิตหมูเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนหมูทั้งหมดของประเทศเข้าไปแล้ว