วันที่ 12 ม.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จุฑารัตน์ ขาวโกมล กรรมการผู้จัดการ บริษัทคัลเลอร์ โอเชี่ยน จำกัด พร้อมด้วยนายมนตรี บัวมาก ทนายความประจำบริษัท เปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเซ็นทาราคา มาริส ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถึงกรณีถูกโลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเปิดให้บริการรับจองที่พักแบบพูลวิลล่าในพื้นที่เมืองพัทยา และอำเภอใกล้เคียงใน จ.ชลบุรี ว่าเป็นการหลอกลวงนักท่องเที่ยวให้โอนเงินค่าที่พักที่จับจองไว้ตามใบโบรชัวร์และโฆษณาในเพจเฟซบุ๊กของบริษัทชื่อ “Amantara Group” แต่ไม่สามารถเข้าพักตามที่ตกลงกันไว้ได้ จึงเหมือนเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค
โดย น.ส.จุฑารัตน์ ชี้แจงว่า บริษัทเปิดดำเนินการมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับให้เช่าบ้านพูลวิลล่าขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงห้องพักในคอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ปล่อยให้เช่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยทุกครั้งจะมีการทำสัญญาเช่าที่ถูกต้องตามกฎหมายจำนวนกว่า 30 หลัง สนนราคาค่าเช่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35,00-60,000 บาทต่อเดือน พร้อมจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า และจ่ายเงินประกันในทุกอสังหาริมทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่พัก ที่สำคัญ คือ การทำสัญญาทุกครั้งจะมีพยาน ทนายความ และคู่สัญญา ทำให้มีเอกสารยืนยันถูกต้อง โดยบริษัทจะได้กำไรจากส่วนต่างที่เกินจากค่าเช่าที่ทำสัญญาไว้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการทำธุรกิจพบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง และคงเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มากันเป็นหมู่คณะ จึงมักนิยมเช่าที่พักแบบพูลวิลล่าเป็นหลักเพื่อต้องการความเป็นส่วนตัว และป้องกันการติดเชื้อไปอีกทางหนึ่ง กรณีนี้ทำให้ยอดการจับจองที่พักผ่านบริษัทมีมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนห้องพักที่มีอยู่ แต่แล้วกลับมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวที่จองที่พักผ่านบริษัทไม่สามารถเข้าพักพูลวิลล่าตามที่ได้นัดหมายกับบริษัทไว้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของพูลวิลล่าซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ทำการปิดล็อคที่พักพูลวิลล่า โดยอ้างว่าบริษัทผิดสัญญา เพราะชำระค่าเช่าล่าช้าเกินกว่า 3 เดือน
กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าสร้างความเสียหายให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องชื่อเสียงและความเสียหายที่เกิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาใช้บริการ โดยทางบริษัทต้องจัดหาสถานที่พักแห่งใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมยินยอมออกค่าใช้จ่ายให้ จนถึงขณะนี้บริษัทได้รับความเสียหายนับสิบล้านบาท จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะบริษัทไม่เคยค้างค่าเช่าบ้านพักที่ทำสัญญากันไว้แม้แต่รายเดียว เพียงแต่อาจมีล่าช้าไปบ้างในการชำระค่าเช่ารายเดือนแต่ไม่เคยเกิน 5 วันตามที่ตกลงกันในสัญญา โดยเรื่องนี้สามารถยืนยันได้จากใบโอนชำระค่าเช่าซึ่งใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย ส่วนสาเหตุที่เกิดการกระทำเช่นนี้ สืบทราบมาว่า เป็นเพราะนักท่องเที่ยวบางส่วนไปติดต่อโดยตรงกับเจ้าของบ้านพักแล้วให้ราคาค่าเช่าสูงกว่าที่บริษัททำสัญญาไว้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่มีผู้ต้องการที่พักเป็นจำนวนมากจึงใช้วิธีการดังกล่าว พร้อมนำเรื่องราวไปแชร์กันต่อในโลกโซเชียล รวมถึงตัวแทนของผู้ให้เช่ากล่าวหาว่าบริษัททำธุรกิจที่ไม่สุจริต และฉ้อโกงนักท่องเที่ยว
ด้าน นายมนตรี บัวมาก ทนายความประจำบริษัท เปิดเผยว่า การทำสัญญาเช่ากับเจ้าของบ้านพัก มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาอย่างถูกต้อง โดยบริษัทซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด แม้อาจจ่ายค่าเช่าล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยข้ามเดือน ซึ่งมีหลักฐานการโอนเงินที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการกระทำในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการหาประโยชน์โดยมิชอบ และเข้าข่ายเป็นการบุกรุกสถานที่แม้ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านพักก็ตาม เนื่องจากมีการทำสัญญาปล่อยเช่าไปแล้ว โดยเรื่องนี้ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากทางบริษัท ได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการคดีอาญากับผู้ให้เช่าฐานบุกรุก และจะดำเนินคดีแพ่งกับผู้ให้เช่าฐานทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท นอกจากนี้อาจมีการแจ้งความดำเนินคดีในฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย เนื่องจากมีการนำข้อความไปโพสต์จนทำให้บริษัทเกิดความเสียหายพร้อมยืนยันบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจที่เข้าข่ายหลอกลวง หรือฉ้อโกงแต่อย่างใด