ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอย่างจำกัด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2564 โดยวางเงื่อนไขต่างๆให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ซึ่ง น.ส.ปนัสยา จำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยไม่ปรากฏว่าได้ประพฤติผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 5 ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ต่อเนื่องไปก็เพื่อที่จะทำการเรียนและสอบให้สำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 ซึ่งจะต้องมีการทำการวิจัยส่วนบุคคลเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามและทำรายงาน จำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ออกนอกราชอาณาจักร ตลอดจนถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลจะกำหนด
โดยจะมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา รับกำกับดูแลให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด เห็นว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างจำกัด ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่ประพฤติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามที่ศาลกำหนดไว้ กรณีจึงไม่ปรากฎพฤติการณ์ในอันที่จะทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่อภยันอันตรายอื่นในช่วงเวลานี้แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามคำรับรองของอาจารย์ผู้ดูแล จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ในระยะเวลาจำกัดต่อไป นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย.2565 โดยมีประกันในวงเงิน 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยที่ 5 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยที่ 5 เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยที่ 5 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศเป็นผู้กำกับดูแล จำเลยที่ 5 ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวและส่งตัวภายในวันที่ 16 มิ.ย.2565 เวลา 10.00 น. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ภายหลังฟังคำสั่งเสร็จแล้ว นายกฤษฎางค์ ทนายความ พร้อมรุ้ง ปนัสยา ได้เดินออกมาจากศาล และสัมภาษณ์ว่า ศาลไม่ได้ห้ามการไปชุมนุม เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการสั่งห้ามในกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยศาลได้ยืนยันว่า ‘การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้’ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวังตัว เพราะในขณะนี้ก็มีหลายฝ่ายที่เขาอาจจะมีความประสงค์ให้น.ส.ปนัสยา ไม่ได้รับการประกันตัว อาจจะใช้คำสั่งศาลมาเป็นข้ออ้าง
นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวถึง คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวานนี้ที่เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นห้ามออกนอกเคหะสถานเฉพาะเวลา 18.00-6.00 น. ว่าอาจจะต้องปรึกษาหารือกัน เพราะเป็นคนละคดีกัน
ส่วน รุ้ง ปนัสยา เผยว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชม. แต่เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาคือ ‘ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน’ จึงขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกับเงื่อนไขดังกล่าว และมองว่าเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องมีก็ได้ จะให้ประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาประชาชนน่าจะทราบกันดีว่า เป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตน เพราะนักโทษทางการเมืองหรือใครก็ตาม ทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ อย่างเรา หรืออย่างเบนจา หรือเพนกวินเอง ที่ต้องลงทะเบียนเรียน พวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนต่อ แต่ก็คาดหวังว่าเพื่อนเราจะได้ออกมากันในเร็ว ๆ นี้ ได้ออกกลับมาเรียนหนังสือ