วันนี้(14 ม.ค.64) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.อีกครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบเพิ่มและเอาผิดนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้กำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์ ผิดพลาด ล้มเหลว โดยปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF จนเป็นเหตุให้หมูขาดตลาด และราคาแพงในปัจจุบัน พร้อมเรียกร้องให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกมารับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า นายประภัตร โพธสุธน ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์โดยตรง ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 1662/2562 ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มอบอำนาจหน้าที่ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลวในการบริหารจัดการเกี่ยวกับกรมปศุสัตว์เกิดขึ้น ย่อมต้องส่งผลถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลที่จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ทั้งนี้ การปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ของกรมปศุสัตว์ ทำให้หมูของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลาง ล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้หมูแพง แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ออกมาจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็เพิกเฉย ยังคงเลี่ยงบาลีว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF ทั้งๆ ที่ข้อมูลการเกิดโรคระบาดถูกเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมาเปิดโปงว่า เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 แล้ว จนกระทั่ง ครม. ต้องอนุมัติเงินเยียวยาให้เกษตรกรแล้วหลายรอบ
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ปัญหาการปกปิดการการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีผลประโยชน์ของชาติของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งมี พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและควบคุมปัญหา โดยเฉพาะในท้องที่ใดเมื่อเห็นสมควรให้มีการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ชนิดใด อธิบดีปศุสัตว์ ก็มีอำนาจที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้นทั้งหมด หรือบางส่วนของท้องที่ ต้องมีการทําเครื่องหมายประจําตัวสัตว์
สําหรับสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดนั้น หรือรัฐมนตรีเกษตรฯก็สามารถที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้นๆ หรือทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเขตปลอดโรคระบาด หรือเขตกันชนโรคระบาดสําหรับโรคนั้นในสัตว์นั้นได้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดได้ รวมทั้งยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 396 เรื่องการห้ามทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็นในหรือริมทางสาธารณะอีกด้วย
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปรากฏการล้มตายของสุกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กลับไม่ปรากฏว่ากรมปศุสัตว์ หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล จะใช้อำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเข้าข่ายความผิดที่ ป.ป.ช.จะต้องเข้าไปดำเนินการไต่สวน สอบสวนเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ ก็ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนเอาผิดอธิบดีปศุสัตว์, รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรมว.พาณิชย์ กรณีปล่อยให้หมูแพง-ไข่แพง ด้วยข้อกล่าวหา ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF
ขณะที่ผู้สื่อข่าว ได้พยายามติดต่อกับรมช.เกษตรฯ และรมว.เกษตรฯ เพื่อสอบถามความคิดเห็น หลังถูกนายศรีสุวรรณ ต้องต่อป.ป.ช. รวมถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องโรค ASF ซึ่ง นายประภัตร แจ้งว่า ติดภารกิจ และไม่สะดวกพูดคุย ขณะที่นายเฉลิมชัย ไม่รับสาย