ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า ประเด็นเรื่องวัคซีนเข็ม 4 ที่ไม่พอป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนที่อิสราเอล เป็นเรื่องไม่เกินความคาดหวังครับ เพราะวัคซีนที่ใช้ในการกระตุ้นเข็มที่ 4 ยังเป็นวัคซีนตัวเดิมที่ออกแบบมาจากไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมตั้งแต่การเริ่มระบาด
ในบริบทของโอมิครอนซึ่งมีความแตกต่างกันของโปรตีนหนามสไปค์อย่างชัดเจน ความสามารถของแอนติบอดีที่วัคซีนจะกระตุ้นมายับยั้งการติดเชื้อได้จะน้อยลงไปด้วย ภาพที่อธิบายได้ชัดเจนมาจากบทความในวารสาร Nature Reviews Immunology ที่ผมเอามาปรับเพิ่มเติมครับ ระดับภูมิคุ้มกันจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนจะมี 2 ระดับใหญ่คือ ภูมิป้องกันการติดเชื้อ และ ภูมิป้องกันอาการหนัก ซึ่งระดับทั้ง 2 นี้ จะแตกต่างกันไปอีกใน 2 ปัจจัยคือ สายพันธุ์ที่ระบาดตรง หรือ ใกล้เคียงกับวัคซีน (well-matched) หรือ แตกต่างจากวัคซีน (less well-matched) และ ปัจจัยที่สองคือ อายุและสภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผู้สูงอายุ และ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำก็จะมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงไปด้วย
จากภาพนี้จะเห็นว่า ในกรณีที่วัคซีนใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาด ระดับภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอต่อการปัองกันการติดเชื้อจะไม่สูงมาก และ ไม่แตกต่างมากนักกับระดับที่ใช้ป้องกันอาการรุนแรงของโรค แต่ถ้าความแตกต่างระหว่างวัคซีนกับสายพันธุ์มีมากขึ้น อย่างกรณีของโอมิครอน ระดับภูมิที่ร่างกายต้องการใช้ป้องกันการติดเชื้อจะต้องสูงขึ้นไปอีกมาก ผมเพิ่มลูกศรขึ้นไปจากปกติสำหรับโอมิครอน เพื่อเน้นให้เห็นว่า ระดับนั้นจะสูงถึงได้ต้องเป็นช่วงที่ได้รับเข็มกระตุ้นไม่กี่สัปดาห์ เพราะกราฟจะหักหัวลงค่อนข้างไว ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นระดับภูมิคุ้มกันก็จะต่ำกว่าเส้นที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนอยู่ดี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบในอิสราเอลตามข่าว
ประเด็นสำคัญคือ เส้นระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันอาการหนักสำหรับบโอมิครอน “ไม่ได้” ขยับขึ้นมากนัก แสดงว่า ภูมิคุ้มกันจากเข็มกระตุ้น หรือ เข็มมาตรฐานก่อนกระตุ้น น่าจะเพียงพอต่อการป้องกันอาการรุนแรงของโอมิครอนได้อยู่ครับ…สังเกดดีๆว่าอิสราเอลพูดถึงระดับไหนของภูมิคุ้มกันนะครับ