เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวแทนรัฐบาล แถลงถึงเหตุผลความจำเป็นเสนอร่างกฎหมายว่า ตามที่ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้เฉพาะเมื่อครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมญูมาตรา 172 วรรคสาม ที่กำหนดว่าในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้ครม.เสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาในไม่ช้า เหตุผลคือองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางกีฬาหรือวาดาที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาในระดับนานาชาติได้ปรับปรุงประมวลกฎหมายการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทำให้บทบัญญัติบางประการพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎดังกล่าว หากไม่แก้ไขเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้หลายรายการ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งไม่สามารถทำให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาระดับชาติและนานาชาติได้ รวมถึงสิทธิการใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาที่กระทบชื่อสียง เกียรติภูมิของประเทศ และคนไทย จึงเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้ขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกสภาฯอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เป็นส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลอภิปรายโจมตีรัฐบาลที่ดำเนินการล่าช้าในการแก้ไขปัญหา ขอให้รัฐบาลมีความจริงใจออกกฎหมายนี้ และขอให้รายการที่มีนักกีฬาของชาติไทยดำเนินการถ่ายทอดสดเพื่อให้คนไทยได้ดูแบบฟรีทางช่องฟรีทีวีด้วย พร้อมทั้งชื่นชมนักกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ ขณะที่ส.ส.พรรคภูมิใจไทยบางส่วนได้อภิปรายสนับสนุนการออกกฎหมายดังกล่าว และขอให้สภาฯควรให้ความเห็นชอบ อาทิ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ก้าวไกล อภิปรายว่า ประเด็นที่เราโดนวาดาแบน เพราะกฎหมายต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เป็นไปตามหลักสากล และล้าหลัง ทั้งหมดไม่ได้มีอะไรแปลก หรือคอขาดบาดตาย เราแก้ไขได้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาวาดาเตือนเรามาเป็นปีๆ แต่เราก็ไม่แก้ จนมาเกือบวันสุดท้ายของปี ทำให้รัฐบาลแก้ตัวว่าต้องเสนอเป็นพ.ร.ก. ด้วยการโทษสภาฯว่าดำเนินการล่าช้า ปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญ แล้วมาโทษการเมืองไทย โทษรัฐสภา โบ้ยความผิดให้นักการเมือง ซึ่งการใช้พ.ร.ก.ก็เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเอื้อแก้ปัญหาหน่วยงานราชการที่ทำผิดพลาด
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า คำว่าพ.ร.ก.ไม่ควรออกในขณะนี้ ตนขอเตือนรัฐมนตรีฯ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงท่องเที่ยวฯไว้ หากมีใครไปร้องให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉบับนี้ก็อย่าไปโกรธหรือเขาว่าไม่รักชาติ เพราะคำว่าพ.ร.ก.ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและสูงยิ่ง แต่การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่มีความจำเป็น ตนเคยยื่นกระทู้ถามสดไว้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย หากคิดว่ากฎหมายมีปัญหาขอให้ยื่นสภาฯวาระที่หนึ่ง ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาฯ และโหวตวาระสามได้ภายใน 1 วัน ที่อ้างว่าจะกระทบเกียรติภูมิชื่อเสียงประเทศจึงเป็นกรณีฉุกเฉินนั้น ตนว่าราคาหมูแพงควรออกพ.ร.ก.มากกว่าเสียอีก ตนขอเตือนรัฐมนตรีว่าหากมีใครไปร้องเพิกถอนว่าพ.ร.ก.นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องมีคนรับผิดชอบ ไม่ใช่เอาง่ายเสนอเข้าครม. ออกพ.ร.ก. เข้าสู่สภาฯ ตนถือว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้ไม่ได้ หากตนเป็นรัฐบาลท่านคงด่าเช้าด่าเย็น นี่คือการโยนเผือกร้อนให้รัฐสภา และรอดูว่าเรื่องนี้ต้องมีการลงโทษและมีคนผิด รัฐมนตรีต้องตั้งกรรมการสอบว่าข้อบกพร่องอยู่ตรงไป มัวแต่แก้ตัวไม่แก้ไข เป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นายกฯจะต้องตระหนักว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย เพราะตั้งแต่เกิดมาตนยังไม่เคยเห็นประเทศไทยถูกห้ามใช้ธงชาติและห้ามร้องเพลงชาติมาก่อน ความเสียหายนี้จะสร้างความเข็ดหลาบ และตอนนี้ก็ยังไม่มีคนรับผิดชอบ นายกฯควรลาออกแสดงความรับผิดชอบ เราถามเป็นกระทู้ถามในสภาฯ แต่รัฐมนตรีใช้คำแก้ตัวที่ใช้มาได้ ดังนั้นฝ่ายค้านไม่สบายใจมาก เราอยากให้รีบแก้ปัญหาให้คนไทยและนักกีฬาไทยด่วนและถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกระบวนการ วันนี้กระบวนการท่านผิด เราไม่สบายที่จะรับและอนุมัติพ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะผิดทั้งเนื้อหาสาระ ซึ่งควรออกเป็นพ.ร.บ.มากกว่าออกเป็นพ.ร.ก. ความตั้งใจถูกแต่วิธีการผิด
ในส่วนของนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า วันนี้เราโดนบีบบังคับเรื่องกฎหมาย สิ่งที่วาดาบังคับคือเรื่องศักดิ์ศรี เพลงชาติ และธงชาติที่หน้าอก บีบบังคับประเทศไทยและนายกฯ รวมถึงรมว.ท่องเที่ยวฯ ผู้ว่าการการกีฬาฯ ส.ส.และหัวใจคนไทยทั้งประเทศเรื่องศักดิ์ศรี วันนี้วาดาใช้กติกาทางกฎหมายในการใช้ศักดิ์ศรีประเทศให้ทำตามกติกา วันนี้สภาฯทำตามกติกาแล้วในการออกกฎหมาย ที่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ตนจึงอยากให้สมาชิกสภาฯทำหน้าที่ศักดิ์ศรีของประเทศไทย หวังว่าทุกคนทำหน้าที่เป็นพลเมืองไทยและรักประเทศไทย
จากนั้นนายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำงานร่วมกันกับวาดาตั้งแต่ก่อนปี 2563 โดยมีความพยายามให้กฎ กติกา ระเบียบต่างๆ และกฎหมายของประเทศไทยสอดคล้องกับกฎบัตรวาดา การแก้ไขของวาดามีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงปี 63 วาดามีการแก้ไขกฎบัตรวาดาบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 64 ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ประสานแก้ไขกฎระเบียบภายในของการกีฬาแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเรามีคณะทำงานพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ และดำเนินการอัพเดตกำหนดชนิดของสารต้องห้ามปฏิบัติตามที่วาดากำหนดมาตลอด จนเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 วาดาแจ้งมาว่าประเทศไทยมีประเด็น4-5 ประเด็นที่ต้องดำเนินการ ซึ่งเราทราบวันที่ 15 ก.ย. 64 ที่วาดาแจ้งอย่างเป็นทางการ เราได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นต่างๆเหล่านั้นว่าเราไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. เราหารือวาดามาต่อเนื่องและฟังความคิดเห็นของวาดา เราไม่ได้แก้เองจากที่คิดเอง ทุกประเด็นที่มีการแก้ไขการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ประสานทุกน่วยงานทำงานร่วมกัน และประสานงานกับเจ้าหน้าที่วาดา สอดคล้องกับกฎบัตรวาดาทุกประการ จะไม่เป็นปัญหาว่าเมื่อออกกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วจะไม่สามารถปลดล็อคการขึ้นลิสต์ได้ เราได้ยืนยันกับฝ่ายกฎหมายวาดาว่าการแก้ไขของเราสอดคล้องกับกฎบัตรวาดาทุกประการแล้ว และเขาตอบกลับมาแล้วว่ายอมรับว่าการแก้ไขของเราถูกต้องครบถ้วนแล้ว การทำงานช่วง 3 เดือน เรามีเวลาได้ออกกฎหมายฉบับที่เป็นที่ยอมรับ และวาดาเตรียมเสนอปลดล็อคประเทศไทยอย่างช้าวันที่ 2 ก.พ. 65 ส่วนเรื่องการใช้สัญลักษณ์ธงชาติไทย การลงโทษกรณีนี้ไม่ร่วมกรณีการเข้าร่วมแข่งขันที่เราไมได้ถูกลงโทษ เราจึงต้องแก้ไขกฎหมายโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจคนไทย วาดายืนยันว่าเมื่อออกเป็นพ.ร.ก.แล้วประเทศไทยจะถูกออกจากกลุ่มประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามหรือนำออกจากลิสต์ ซึ่งเราขอให้วาดาพิจารณาพ้นโทษทันทีโดยเฉพาะสิทธิ์การจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่ไม่ต้องรอ 1 ปี แต่ที่ยังไม่แน่นอนคือเรื่องธงชาติ แต่เราเห็นร่วมกันว่าเมื่อถูกปลดออกจากลิสต์แล้ว ประเทศไทยต้องสามารถใช้ธงชาติได้ทันที เพราะถือว่าเราถูกลงโทษไปแล้ว เมื่อพ้นแล้ว วาดาเห็นว่าเราแก้ไขฎหมายต่างๆแล้ว ควรใช้ธงชาติได้ทันที
ขณะที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้ผู้ว่าการการกีฬาฯและรมว.ท่องเที่ยวประกาศให้ชัดได้หรือไม่ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน แต่ไม่ได้การรับรองจากวาดา ขอให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งสองท่าน อย่ามาให้สภาฯนี้ได้พบกับท่านอีก ทำให้นายพิพัฒน์ กล่าวชี้แจงว่า ตนและผู้ว่าการการกีฬาฯ ไม่ได้พูดในเรื่องวาดาที่มีการลงมติในสภาฯวันนี้ แต่สิ่งที่ตนพูดคือว่าหากมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในยุคที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.ท่องเที่ยวฯ ไม่ว่าจะสถานะใดสถานะหนึ่งในลักษณะใกล้เคียงแบบนี้ ตนก็จะทบทวนตนเอง
ต่อมาเวลา 15.35 น. ที่ประชุมสภาฯได้ลงมติ 230 ต่อ 118 เสียง เห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง