ปีใหม่ 2565 คนไทยคงแปลกใจกันทั่วประเทศ คือ “หมูแพง” ทำให้การเฉลิมฉลองปีนี้ไม่คึกครื้นเหมือนทุกปี ร้านหมูกระทะจำนวนมากปิดร้านชั่วคราว ขณะที่เจ้าประจำเลิกกิจการเพราะแบกภาระต้นทุนราคาหมูไม่ไหว หมูสเต๊ะ-หมูปิ้ง แถวบ้านปรับราคาขึ้นไม้ละ 2 บาท ได้เนื้อแบบบางๆ ทำอย่างไรคนไทยจึงจะมีเมนูหมูกินในราคาเหมาะสมไม่ใช่แพงที่สุดในรอบ 10 ปี เหมือนในขณะนี้ที่หมูเนื้อแดงราคาพุ่งขึ้นไปที่ 220-250 บาท/กิโลกรัม ตกใจกันถึงสวรรค์
นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งเสนอแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจ ว่า กรณีหมูไทยขาดแคลนและมีราคาแพงนั้น การนำเข้าแม้ในระยะสั้นก็อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กในระยะยาว เพราะสถานการณ์ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยขาดความเชื่อมั่นหลังขาดทุนมา 3 ปี บางรายหมดตัว ที่สำคัญผู้เลี้ยงเกือบ 100% และส่วนใหญ่ทำอาชีพเดียวไม่มีมีอาชีพสำรอง เพราะเรื่องพฤติกรรมการบริโภคนี่เรามีบทเรียนมาเยอะแล้ว เวลาผู้บริโภคเปลี่ยนไปกินอย่างอื่นนานๆ เพราะของขาด ก็จะเกิดเป็นความคุ้นชินกับของใหม่และอาจไม่กลับไปกินแบบเดิม โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดแบบนี้และเงินเฟ้อเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า คือ ราคาถูกต้องมา
ด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้เสนอแนะแก้ปัญหาหมูในประเทศขาดแคลน ด้วยการ “นำเข้า” เนื้อหมูจากสหภาพยุโรป (EU) ให้เป็นทางเลือกกับสังคม อ่านแล้วก็คิดตามเพราะเป็นการเพิ่มปริมาณสินค้าเข้ามาในตลาดเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนและจะดึงราคาให้ลดลงตามหลักอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) ตามกลไกการตลาด ว่าด้วยวิชาเศรษฐศาตร์พื้นฐาน พร้อมนำเสนอตัวเลขราคาและปริมาณนำเข้าที่คำนวณตามหลักวิชาการไว้ชัดเจนว่า ให้นำเข้ากรณีที่ราคาหน้าฟาร์มสูงเกิน 120 บาท/กิโลกรัม ปริมาณนำเข้าเบื้องต้นไม่เกิน 20,000 ตัน/เดือน (20 ล้านกิโลกรัม) จะทำให้ราคาเนื้อหมูลงมาอยู่ในระดับ 198-205 บาท/กิโลกรัม ที่สำคัญ EU เป็นแหล่งที่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อ (Ractopamine) เหมือนกับประเทศไทย แก้ปัญหาให้ผู้บริโภคก่อน และย้ำว่าต้องกำหนดระยะเวลานำเข้าให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตและราคาในประเทศ การแก้ปัญหาเร็วที่สุดก็ต้องวิธีนี้แหละ ขณะที่ระยะเวลานำเข้าจากยุโรปมาไทยอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน
ในมุมของเกษตรกร ถ้าความนิยมหมูนอกมากกว่าหมูไทย มันก็น่าคิดว่าแล้วหมูที่พวกเขาผลิตได้ใครจะกิน ของเหลือ ของล้น ราคาดิ่งพสุธา นี่ก็อีกหนึ่งกลไกการตลาดเหมือนกัน การเลี้ยงหมูรายย่อยและรายเล็กก็จะล่มสลายไปในที่สุดเพราะผลิตแล้วขายไม่ได้ขาดทุนแน่ ก็ขายทิ้งแล้วไปหาโอกาสใหม่ที่ลงทุนไม่มาก เสี่ยงน้อย มีตลาดรองรับ ไม่เหนื่อย รายได้มีเสถียรภาพ นี่เป็นอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรแต่โดนมองข้ามไป กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยในอนาคต
ใจหนึ่งก็อยากให้ร้านหมูกระทะเปิดบริการ แต่ก็ต้องชั่งใจว่าถ้าอยากกินแบบ”ไทยทำ ไทยใช้ ไทยยั่งยืน” ประสานประโยชน์ทุกภาคส่วน ก็ไม่ควรนำเข้า และอดใจรอกินหมูของไทยที่สดใหม่ ไร้โรค ปลอดสารตกค้าง มีให้เลือกทุกส่วน ที่สำคัญการบริโภคหมูในประเทศนี่แหละ คือ การช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยมีลมหายใจสดชื่นทุกวัน อยากให้คนไทยไตร่ตรองเรื่องหมูนอกแล้วอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน