เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 ฝ่ายสื่อสารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ส่งจดหมายชี้แจง กรณีที่ “ท็อปนิวส์” เผยแพร่ข่าวเรื่อง วิสัยทัศน์อับปางในไทยพีบีเอส EP.1 บนเว็บไซต์ Top News ที่มีเนื้อหากรณีสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นั้น ไทยพีบีเอสขอส่ง คำชี้แจงคณะกรรมการนโยบาย กรณีการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
คำชี้แจงคณะกรรมการนโยบาย กรณีการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีเนื้อหาดังนี้
ตามที่นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที หนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีหนังสือหารือมายังประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งนายยุทธิยงได้แสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนบางแห่งได้นำมาเผยแพร่และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.นั้น
คณะกรรมการนโยบายได้พิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งให้ความสนใจ จึงขอชี้แจงนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที และสาธารณชนไปพร้อมกันในคราวเดียวกันดังนี้
๑. คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้มีบุคคลที่ต้องการให้เป็นผู้อำนวยการอยู่แล้ว จึงได้สร้างกระบวนการวิธีการสรรหาให้เป็นไปตามความต้องการหรือไม่
คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นประธานหรือหัวหน้าหน่วยงานที่สำคัญ จำนวน ๙ คน (รายชื่อคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.) โดยมีข้อบังคับ ส.ส.ท.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการรับสมัคร และการสรรหาที่ประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจน (คลิกอ่านรายละเอียด) และให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการอย่างเป็นอิสระ โดยคณะกรรมการสรรหา ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกให้นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณีเป็นประธาน
โอกาสที่ประธานกรรมการสรรหาหรือกรรมการสรรหาคนใดจะมีอิทธิพลเหนือกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๙ คน ถึงกับออกกำหนดกฎเกณฑ์การคัดเลือกหรือชักจูงผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ยิ่งกว่านั้นการรับสมัครผู้ประสงค์จะได้รับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการ ก็ได้มีการขยายเวลารับสมัครเพิ่มเติมอีก ๑๔ วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้สนใจสมัครมากขึ้น
ในส่วนของการกำหนดคุณลักษณะของผู้สมัคร เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา ๓๒ ของพระราชบัญญัติ ส.ส.ท. พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานทั่วไป ประกอบกับคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ได้แก่
(๑) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑.๑) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ โดยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้นเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี
(๑.๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารจากหน่วยงานภาคเอกชนที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านบาทต่อปี หรือมีพนักงานในองค์กรไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คน โดยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้น เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี นับถึงวันยื่นใบสมัคร
(๑.๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสถาบันวิชาการด้านสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์ โดยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคณบดี เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี นับถึงวันยื่นใบสมัคร
(๒) ผู้มีคุณสมบัติตามข้อ (๑) ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี โดยมีผลสำเร็จในการบริหารงานเป็นที่ประจักษ์
(๓) มีความรู้ความเข้าใจเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑ เข้าใจภูมิทัศน์ ความเป็นสื่อสาธารณะ และมีประสบการณ์การบริหารเชิงกลยุทธ์
คุณสมบัติดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นไปเช่นเดียวกับการกำหนดคุณสมบัติในการสรรหาผู้อำนวยการที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ที่เหมาะสมกับการบริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่เป็นสำคัญ
๒. เหตุใดคณะกรรมการสรรหา จึงไม่ส่งรายชื่อผู้สมัครทั้ง ๕ คน ให้คณะกรรมการนโยบายได้มีโอกาสฟังวิสัยทัศน์และสอบถามทั้งหมด ๕ คน แต่กรรมการสรรหาส่งผู้ผ่านการสรรหาในรอบแรกเพียง ๒ คน
คณะกรรมการสรรหาได้ปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการรับสมัคร และการสรรหาผู้อำนวยการ พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้หน้าที่ “กลั่นกรอง” และ “สรรหา” ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม และสมควรที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จำนวน “ไม่น้อยกว่า ๒ คน และไม่เกิน ๕ คน” เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อคัดเลือกเหลือ ๑ คน ตามข้อ ๙.๑ ของข้อบังคับดังกล่าว
ในการทำหน้าที่ “กลั่นกรอง” และ “สรรหา” นั้น คณะกรรมการสรรหาได้ประชุมและกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณา ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดคุณสมบัติตามข้อ (๑) ดังนี้
(๑) ประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กร
(๒) มีจิตสาธารณะ มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสาธารณะอื่นๆ
(๓) วิสัยทัศน์ เรื่องการบริหารจัดการองค์กรสื่อสาธารณะ
(๔) กลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กร
ในการนี้คณะกรรมการสรรหาได้กำหนดแยกการให้คะแนนในแต่ละข้อ โดยคะแนนรวมของทุกข้อจะต้องได้คะแนนร้อยละ ๖๐ ขึ้นไป ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาเพียง ๒ คน
เกณฑ์ในการพิจารณาทั้งสี่ข้อดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในหนังสือถึงผู้สมัครเพื่อเชิญให้มานำเสนอวิสัยทัศน์และรับการสัมภาษณ์แล้ว (หนังสือเชิญนำเสนอวิสัยทัศน์)
๓. ผู้สมัครไม่มีโอกาสตอบคำถาม หรือใช้สื่อประกอบการนำเสนอวิสัยทัศน์
ในการแสดงวิสัยทัศน์ คณะกรรมการสรรหาประสงค์ที่จะให้ผู้สมัครได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการบริหารองค์กร ความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการองค์กรสื่อสาธารณะ โดยไม่มีโน้ตย่อหรือเอกสารประกอบ เพราะต้องการให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ด้วยวาจา (ปากเปล่า) ตามข้อบังคับที่ ๙.๑ และได้แจ้งให้ผู้สมัครทุกคนได้รับทราบเกณฑ์การนำเสนอวิสัยทัศน์ (หนังสือเชิญนำเสนอวิสัยทัศน์) โดยระบุในหนังสือเชิญผู้สมัครทุกคนให้มาแสดงวิสัยทัศน์ว่า “ให้ท่านนำเสนอวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการองค์การต่อคณะกรรมการสรรหาโดยปากเปล่า ไม่ใช้สื่อการนำเสนอประกอบ” ทั้งนี้วิสัยทัศน์ด้วยเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร ได้ให้เสนอมาพร้อมกับใบสมัครแล้ว
คณะกรรมการสรรหามีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะไม่ซักถามผู้สมัครทุกรายด้วยวาจา แต่ได้เตรียมคำถามไว้รวม ๒ ข้อ ประกอบด้วยคำถามหลักที่ผู้สมัครทุกรายต้องตอบ และคำถามรองซึ่งเป็นคำถามที่คณะกรรมการสรรหาเตรียมไว้ ๓ คำถามใน ๓ ซอง เพื่อให้ผู้สมัครแต่ละรายเลือกคำถามเพียง ๑ ซอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกคน ไม่เปิดโอกาสให้มีถามคำถามเพื่อสนับสนุนหรือทำให้ผู้สมัครบางคนด้อยค่าลง
คณะกรรมการนโยบาย ได้คำนึงถึงการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ที่ต้องเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในกระบวนการสรรหา ที่คณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดทุกประการ คณะกรรมการนโยบายได้รับทราบและมีความเห็นร่วมกันว่า การสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ครั้งนี้เป็นไปโดยชอบแล้ว
คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย