เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ทบทวนมติกรณีมีชื่อเป็น 1 ใน 21 ส.ส. ถูกให้ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐว่า กรณีตามข่าวนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ได้ทันที ถ้ากกต. ก้าวเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยประเด็นสำคัญที่สมควรตรวจสอบ เพื่อตอบคำถามให้ชัดเจนในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแลพรรคการเมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่า ตกลงแล้วนี่เป็นการจงใจขับออกจากพรรคโดยบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 จริงหรือไม่ เพราะผลของการที่ส.ส.ถูกขับออกจากพรรค ตามมาตรา 101 กับลาออกจากพรรคตาม 101 มันต่างกันเยอะ “ลาออก” ทำให้พ้นสภาพส.ส. “ถูกขับออก” ยังคงสภาพส.ส.ไว้ได้ หากหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญไทยมีบทบัญญัติบังคับ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองมาตั้งแต่ปี 2517 เพื่อแก้ปัญหาส.ส.ต่อรองกดดันฝ่ายบริหาร อันเป็นเหตุให้การเมืองขาดเสถียรภาพในช่วงปี 2512 – 2514 จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหาร ตอนปลายปี 2514 นับจากนั้นมาการย้ายพรรค ระหว่างวาระทำไม่ได้โดยหลักการ ยกเว้นส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรค จะยอมแลกด้วยตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่ว่ากันทำได้ โดยปกติส.ส.จะย้ายสังกัดได้เมื่อมีการยุบสภาแล้วเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับมีกำหนดระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ยาวถึง 90 ไว้อีกต่างหาก ทำให้การย้ายพรรคไม่ง่ายนัก