วันนี้ ( 25 ม.ค. 65 ) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจากทั่วโลก หลังมีการแพร่ระบาดมา 2 เดือน ว่าขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนไปรุนแรงอยู่ที่ทวีปยุโรปและในอเมริกา ส่วนที่แอฟริกา ได้ผ่านจุดการแพร่ระบาดสูงสุดมาแล้ว กำลังอยู่ในช่วงขาลง และก็ไม่ได้พบมีคนไข้หนักมากนัก ส่วนประเทศไทยหลังโอมิครอนระบาด พบอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ระหว่าง 7,000-8,000 คนต่อวัน เสียชีวิตอยู่ในหลักกว่า 10 คน ไม่เกิน 20 คน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 111 ล้านโดส จากประชากรที่มีอยู่กว่า 70 ล้านคน คิดเป็น 74.4% ของประชากรที่ได้รับ 1 โดส 68.5% ได้ 2 โดส และ 15.8% ที่ได้รับการฉีดกระตุ้น
งานการศึกษาผลของการฉีด AZ และ Pfizer ที่ Imperial College พบว่าจะป้องกันการเกิดการติดเชื้อที่มีอาการของโอมิครอน ได้ผล 0-20% แต่จะเพิ่มเป็น 55-80% เมื่อได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ในการเอาชนะโอมิครอน พลโลกส่วนใหญ่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ ไม่ใช่มีการฉีดเฉพาะในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดีเท่านั้น การหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต การเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีน ส่วนยาที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อโอไมครอน ทั้ง Favipiravir, Molnupiravir, Nirmatrelvir, Remdesivir, Paxlovid ก็ยังใช้ได้ดี ทั้งนี้ จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดที่เร็วมากของโอมิครอน แต่ก่อให้เกิดอาการความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด จากผลรวมของประชากรโลกที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง