เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พบหารือทวิภาคีกับ Ahmad Sulaiman ALRajhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซาอุด
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ซาอุดีอาระเบียกล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสู่ซาอุดีอาระเบีย และยินดีที่ได้มีโอกาสหารือกระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงมีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวขอบคุณสำหรับการเข้าพบหารือในวันนี้ โดยการเยือนฯ ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวไทยที่ประสงค์กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยมีแรงงานศักยภาพที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงานยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถฝึกอาชีพ และประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน
ฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังกล่าวถึงมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคต หากเร่งรัดความร่วมมือได้โดยเร็วจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม