วันนี้ (26 ม.ค. 65) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แล้ว 14 ราย ซึ่งไทยพบสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากว่า 2-3 สัปดาห์แล้ว โดยพบมาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 แต่ที่ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจ
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่พบในปัจจุบัน ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าการแพร่ระบาดนั้นจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ เพราะสายพันธุ์ BA.1 ยังพบมากกว่า แต่ถ้าสัดส่วนของ BA.2 เปลี่ยนจากตอนนี้ที่มีอยู่ร้อยละ 2 และเพิ่มมาเป็นร้อยละ 5 หรือ ร้อยละ 10 ก็อาจจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร เพราะเขาไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เรื่องอาการป่วยหนักนั้น จาก 14 รายที่พบ แบ่งออกเป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย และพบติดเชื้อในประเทศ 5 ราย มี 1 ราย ที่เสียชีวิต คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคประจำตัว ในภาพรวมเราส่งข้อมูลของโอมิครอนทั้งหมดประมาณ 7,000 ราย ให้กรมการแพทย์พิจารณา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ที่เกิดจากโอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 0.1 เท่านั้น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ท้ายที่สุดแล้วถ้าสายพันธุ์เดลต้าจะถูกแทนด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เดลต้าที่กลายพันธุ์อาจจะไม่มีความหมายอะไร เราก็คงเหมือนหลายๆ ประเทศในโลกนี้ ที่คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังกล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์จากชายแดน โดยเฉพาะเขตรอยต่อของประเทศเมียนมา เนื่องจากอินเดียยังคงระบาดอยู่ว่า ได้ใช้วิธีสุ่มตรวจจากการเดินทางเข้าประเทศอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเข้ามาทางเครื่องบิน หรือชายแดน แต่ขอให้ช่วยกัน เพราะส่วนมากจะเจอจากการลักลอบเข้าเมือง ส่วนอีกกี่เดือนที่เชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประถิ่นนั้น ยังไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าวันเวลาไหน แต่ธรรมชาติจะบอกให้เราเห็นเอง เช่น ไม่มีคนเสียชีวิตแล้ว หรือต่อไปอาจจะไม่ต้องตรวจแล้ว หรือป่วยก็ไปรักษา เพราะอาการอาจจะไม่หนักแล้ว แต่ที่เรากลัวคือถ้ามีการกลายพันธุ์ เป็น Variant ตัวใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน และพฤติกรรมของมันอาจจะไม่ใช่แค่แพร่เร็ว แต่อาจจะรุนแรงกว่า แต่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นคือเราสามารถอยู่ด้วยกันได้