“วิรังรอง” ยื่นหนังสือ นายกสภาจุฬาฯ ตั้งคกก.กลาง ลุยสอบ”เนติวิทย์” ปล่อยผีล้มเจ้า โผล่เวทีปฐมนิเทศ นิสิตใหม่ หลังรองอธิการฯ ละเลยหน้าที่

"วิรังรอง" ยื่นหนังสือ นายกสภาจุฬาฯ ตั้งคกก.กลาง ลุยสอบ"เนติวิทย์" ปล่อยผีล้มเจ้า โผล่เวทีปฐมนิเทศ นิสิตใหม่ หลังรองอธิการฯ ละเลยหน้าที่

วันที่ 26 ม.ค. 65 วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการกลาง ประกอบด้วยผู้รงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อ ๑. สอบสวนการทำงานของ ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต ซึ่งเป็นผู้จัดและผู้รับผิดชอบ กิจกรรมปฐมนิเทศ และการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และ ๒. สอบสวนทางวินัยนิสิต นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้ส่งเรียบร้อยแล้วผ่านทางเว็ปไซต์สภามหาวิทยาลัย และทางอีเมล์ตรงถึงท่านนายกสภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ

หนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ
๒๖ มกราคม ๒๕๖๕

เรื่อง ๑.​ ขอสนับสนุนคำร้องของสภานิสิต ที่ได้ยื่นต่อ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ) เรื่อง ขอให้ยุติการสอบสวนคณะกรรมการบริหารและส่งมอบเอกสารการสอบสวนทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานิสิต จุฬาฯ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๔

๒. ขอให้อนุญาต ให้สภานิสิต ดำเนินการสอบสวน นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และนายพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ อุปนายกคนที่ ๑ ตามที่สภานิสิต ร้องขอ โดยเมื่อได้ผลการสอบสวนแล้ว เพื่อศักดิ์ศรี และความโปร่งใส ต้องประกาศผลการสอบสวนต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วกัน

๓. ขอให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการกลาง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสอบสวนทางวินัยนิสิตฯ กรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นำคลิปผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาเผยแพร่ในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทุกคณะ รุ่น ๑๐๕ ทางออนไลน์ ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อได้ผลการสอบสวนแล้ว ประกาศฐานความผิดและโทษทางวินัยที่ได้รับต่อสาธารณะ

๔. ขอให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสอบสวนการทำงานของ ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งและปฏิบัติการแทนอธิการบดี ในการกำกับการปฏิบัติงานของสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ เป็นผู้จัดและผู้รับผิดชอบกิจกรรมปฐมนิเทศและการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อได้ผลการสอบสวนแล้ว ประกาศผลการสอบสวนต่อสาธารณะ

๕. ขอทราบขั้นตอน กระบวนการ ผลสรุป และรายชื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนิสิตฯ ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้วกรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นำคลิปผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาเผยแพร่ในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทุกคณะ รุ่น ๑๐๕ ทางออนไลน์ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

๖. อาศัยความในมาตรา ๔๓ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ขอสอบถามรูปแบบ และวิธีการที่ นิสิตเก่า และบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย จะมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานของส่วนงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามหลักการของจุฬาฯ ในมาตรา ๘

๗. ข้าพเจ้าขอทราบขั้นตอน กระบวนการเกี่ยวกับ
๗.๑. การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและตรวจสอบได้
๗.๒. การ “เปิดโอกาส” ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงาน นิสิตเก่า ผู้ปกครอง ผู้มารับบริการหรือมาติดต่อกับจุฬาฯ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมทั้งลดโอกาสเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ ๒๑ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐)

เรียน นายกสภามหาวิทยาลัย
ข้าพเจ้า นาง วิรังรอง ทัพพะรังสี เป็นผู้ทำหนังสือและรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) ให้วินิจฉัยความรับผิดชอบและความบกพร่องต่อหน้าที่ของอธิการบดี สภามหาวิทยาลัย และสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ กรณีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ การจัดทำและเผยแพร่หนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และอีกหลายกรณีดังปรากฏเผยแพร่ในสื่อออนไลน์

ในฐานะนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น ๓๐ รหัสเข้าศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๐ สมาชิกวิสามัญ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) ข้าพเจ้าร้องขอต่อนายกสภามหาวิทยาลัย ดังนี้:

๑. ขอสนับสนุนให้รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ) ส่งมอบเอกสารการสอบสวนนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกคนที่ ๑ ให้แก่คณะกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานิสิต จุฬาฯ ตามหนังสือที่คณะกรรมาธิการฯ สภานิสิต จุฬาฯ ได้ขอมา ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ (เอกสารแนบ ๑)

เหตุการณ์วันปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๖ เดือนที่แล้ว และนับเป็นเวลา ๔​ เดือน ๑๗ วันหลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เชิญผู้บริหารจุฬาฯ ชี้แจงออนไลน์ผ่านระบบซูม แต่ผู้บริหารจุฬาฯ มิได้ชี้แจงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการสอบสวน เพียงแต่แจ้งว่า ได้ให้คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตดำเนินการสอบสวนและต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่นิสิตฯ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

ประมาณ ๒ เดือนหลังจากการประชุมออนไลน์ผ่านระบบซูมผ่านไป วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ข้าพเจ้าได้รับ “หนังสือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียน” จาก สผผ. ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าจุฬาฯ ได้ให้คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต ดำเนินการสอบสวนโดยมิได้แจ้งกรอบระยะเวลาดำเนินการแก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้ยื่นร้องเรียนไปยัง สผผ. อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจุฬาฯ​ ระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต กฎหมาย และหลักฐานข้อเท็จจริงประกอบการร้องเรียนที่ข้าพเจ้าส่งไป โดยไม่ต้องรอผลการสอบสวนจากจุฬาฯ

วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๕ ข้าพเจ้าได้รับ “หนังสือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน” อีกครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่า สผผ. รอผลการสอบสวนจากจุฬาฯ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เสร็จแล้ว และกำลังนำเสนอสำนวนรายงานผลการสอบสวนวินัยนิสิตให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป

การที่ข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องรอผลการวินิจฉัยจากจุฬาฯ และการที่ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าควรให้คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต ส่งมอบเอกสารการสอบสวนนายเนติวิทย์ และอุปนายกคนที่ ๑ ให้แก่คณะกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ สภานิสิต จุฬาฯ ตามหนังสือที่คณะกรรมาธิการฯ ร้องขอมา มีสาเหตุดังนี้:

๑.๑. เนื่องจากพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เป็นกิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัย มีสำนักบริหารกิจการนิสิตรับผิดชอบในการจัดกิจกรรม แต่ละเลยไม่ควบคุมดูแลกรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เชิญผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาพูดคุยกับนิสิตใหม่โดยเผยแพร่เป็นคลิปวีดิทัศน์ในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทุกคณะ รุ่น ๑๐๕ ทางออนไลน์ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และปล่อยให้มีการแต่งกายและคำพูดที่ส่อไปในทางลามก อนาจาร หยาบคาย รวมถึงการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ อันมีภาพและข้อความที่อาจผิดกฎหมายอาญา ส่อให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องสำคัญมากว่าร้อยปี ซึ่งกิจกรรมขององค์การบริหารสโมสรนิสิต (อบจ.) อยู่ในขอบข่ายการกำกับดูแลของสำนักบริหารกิจการนิสิต มีผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต เป็นผู้มีอำนาจสั่งและปฏิบัติการแทนอธิการบดี

๑.๒. ระเบียบวินัยนิสิตว่าด้วยการดำเนินการสอบสวนวินัยนิสิต นิสิตที่กระทำผิดนอกคณะ จะต้องถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ “..เว้นแต่มหาวิทยาลัยจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่นเป็นกรณีๆ ไป….” (ระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้อ ๒๗.๒)
คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ มี ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิต เป็นที่ปรึกษา

๑.๓. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมทั้งแก่นิสิต ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ และสำนักบริหารกิจการนิสิต ข้าพเจ้าขอเสนอว่า คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ไม่ควรดำเนินการโดยหน่วยงาน หรือโดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการสอบสวน ดังนั้นจึงไม่ควรให้ คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ และรองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ มีส่วนใดๆ ในการดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

๑.๔. เนื่องจากสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ และผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ ปล่อยปละละเลย ไม่ทำหน้าที่กำกับดูแลความประพฤติของนิสิต ก่อให้มีเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวขึ้น จึงควรที่จะต้องถูกสอบสวนด้วย ควรพร้อมที่จะรับฟังความจริง ยอมรับความผิดพลาด ระลึกถึงพระคุณของแหล่งเรียนมา และควรขอโทษสังคม เพราะถึงแม้นิสิตจะทำผิด แต่เป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ความผิดพลาด บกพร่อง ละเลยได้เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสามารถควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมให้ดีงามตามจารีตประเพณี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑.๕. เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบออกไปสู่สังคมภายนอกรั้วจุฬาฯ พี่ป้าน้าอา จนถึงรุ่นคุณปู่คุณย่านิสิตเก่า แม้สังคมคนทั่วไป ต่างไม่พอใจ ออกมาขับเคลื่อน สื่อสาร เป็นที่ครหา ทั้งนิสิตผู้ก่อเรื่องและผู้บริหารจุฬาฯ ถูกประณามอย่างรุนแรง การสอบสวนอันยาวนานที่ดำเนินการอยู่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารจุฬาฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น สภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตรวจสอบและประเมินส่วนงานและผู้บริหารอย่างจริงจัง

ตามที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยและสนับสนุนหนังสือของสภานิสิต จุฬาฯ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๔
นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังขอสนับสนุนสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ซึ่งประกอบด้วย

๑. สภานิสิต ซึ่งมีหน้าที่ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับนิสิต และควบคุมการทำงานของอบจ. (เหมือนสภาผู้แทนราษฎร) และ

๒. องค์การบริหารสโมสรนิสิต (อบจ.) เป็นฝ่ายบริหาร (เหมือนป็นรัฐบาล)

การจำลองการปกครองระดับชาติมาสู่รั้วจุฬาฯ เป็นเรื่องที่ดีงามโดยผู้บริหารจุฬาฯ ควรส่งเสริมให้นิสิตได้พัฒนากระบวนการและเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องขอบเขตของสิทธิเสรีภาพ และ “การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ต้องมีครบทั้งประโยคตัดไม่ได้แม้คำเดียว)
อย่างไรก็ดี ตามที่สภานิสิตอ้าง อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๙.๕ แห่งระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิต จุฬาฯ คณะกรรมาธิการฯ สภานิสิตขอให้ยุติการสอบสวนโดยทันที และให้ส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการสอบสวนจนแล้วเสร็จ และมีมติให้เสนอต่อ มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการลงโทษต่อไปนั้น

ความเต็มในข้อ ๑๙.๕ คือ “สภานิสิตมีอำนาจหน้าที่ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้นายกสโมสร นำเสนอฝ่ายกิจการนิสิตของมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา”

แต่เรื่องนี้มิใช่กิจการปกติของมหาวิทยาลัย การสอบสวนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง และสรุปผลความถูก-ผิดโดยอาศัยกฎหมาย พระราชบัญญัติจุฬาฯ และระเบียบวินัยนิสิตเป็นเกณฑ์ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเสนอตามความคิดเห็นได้ และกระบวนการการสอบสวนความผิดกับการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของจุฬาฯ เป็นคนละเรื่องกัน การยกระเบียบฯ ข้อนี้มาอ้างจึงไม่ตรงประเด็น

นอกจากนี้ ที่ยกมาว่า “ความในข้อ ๑๙.๑ แห่งระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วย สโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภานิสิตฯ ให้ควบคุมการบริหารงานขององค์การบริหาร และในขณะนั้น นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ นายพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกสโมสรนิสิตฯ และอุปนายกคนที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯ ทั้งสองตำแหน่ง

คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าควรเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ในการสอบสวนเพราะปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต ยังไม่อาจมีอำนาจทางกฎหมายในการสอบสวนกรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯ….” นั้น

ประเด็นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการยกข้อความมาไม่ครบถ้วน ความที่ครบถ้วนคือ

อำนาจหน้าที่ของสภานิสิต ข้อ ๑๙.๑ คือ ควบคุมการบริหารงานขององค์การบริหาร (อบจ.) ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิสิต

เช่นนี้ สภานิสิตก็ไม่มีอำนาจในการสอบสวนนายเนติวิทย์ และอุปนายกคนที่ ๑ ด้วยเช่นกัน เพราะข้อความกำหนดไว้แค่คำว่า “ควบคุมการบริหารงาน” ความหมายของคำว่าควบคุมคือ การควบคุมก่อนและระหว่างดำเนินกิจกรรมให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างเรียบร้อยตามที่ได้แถลงไว้ แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการสอบสวนใดๆ
กรณีดังกล่าว ถ้าอบจ. ได้แถลงต่อสภานิสิตว่าจะเชิญผู้ต้องหาคดีอาญามาปฐมนิเทศนิสิต และได้แสดงต้นฉบับหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้สภานิสิตรับทราบก่อนแล้ว แต่สภานิสิตมิได้ยับยั้งห้ามปราม สภานิสิตก็มีส่วนต้องถูกสอบสวนด้วย หรือแม้จะสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า อบจ. ทำโดยพลการ มิได้แถลงทุกอย่างให้สภานิสิตรับทราบก่อน สภานิสิตก็มีส่วนต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกันที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของ อบจ.ได้

สรุปว่า สโมสรนิสิตฯ อันประกอบด้วย สภานิสิต และอบจ. ก็ควรจะต้องถูกสอบสวนด้วย

นอกจากนี้ การที่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ นายพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกสโมสรนิสิตฯ และอุปนายกคนที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯ ทั้งสองตำแหน่งนั้น ก็เข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นเดียวกับ ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ

ดังนั้นการที่สภานิสิตจะดึงเรื่องกลับมาสอบสวนกันเองเป็นการภายในจึงเป็นการไม่สง่างาม ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่สมควรทำเช่นกัน

แต่เพื่อมิให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลาย และเพื่อให้เกิดบรรยากาศกระแสความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การยอมส่งเรื่องให้สภานิสิตดำเนินการสอบสวนเองตามที่ได้ขอมา จึงนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดกลไกการเรียนรู้ การกลั่นกรองงานในระบบสโมสรนิสิต ทั้งยังเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบระหว่างนิสิตด้วยกันเองตามครรลองประชาธิปไตย

ข้าพเจ้าจึงเห็นควรเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงรูปแบบวิธีการที่พวกเขาต้องการทำการสอบสวน ดังในข้อ ๒

๒. ขอสนับสนุนให้จุฬาฯ อนุญาตให้สภานิสิตดำเนินการสอบสวนอบจ. ตามที่สภานิสิตร้องขอ โดยเมื่อได้ผลการสอบสวนแล้ว เพื่อศักดิ์ศรีและความโปร่งใส สภานิสิตต้องประกาศผลการสอบสวนต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ขอให้สภานิสิตเข้าใจว่า ขณะนี้เรื่องการสอบสวนดังกล่าวมิใช่เรื่องภายในจุฬาฯ อีกต่อไป จึงไม่ควรดึงไว้เป็นเรื่องภายใน แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่สังคมจับตามอง เนื่องจาก ผู้ที่อบจ. ได้เชิญมาปฐมนิเทศนิสิตใหม่ คือผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่า เป็นผู้มีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขอฝากข้อความส่วนหนึ่งที่ข้าพเจ้าตัดต่อจากแถลงการณ์ของสภานิสิต ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ แล้วนำมาเขียนต่อกันใหม่เพื่อเตือนใจสภานิสิตดังนี้…(เอกสารแนบ ๒) “ข้าพเจ้าหวังว่าสภานิสิตจะให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่พร่ำเพรื่อ และขอให้สภานิสิตยึดมั่นในหลักการ ระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต กฎหมาย และพระราชบัญญัติจุฬาฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นิสิต และมหาวิทยาลัย”

๓. เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นิสิตผู้ถูกสอบสวน ข้าพเจ้าขอร้องค้านคุณสมบัติของคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตที่ดำเนินการสอบสวนฯ และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคง กระทบต่อความรู้สึกและความศรัทธาต่อสถาบัน อาศัยความตามข้อ ๒๗.๒ แห่งระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. ๒๕๒๗ “ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องวินัยนิสิตของมหาวิทยาลัย เป็นผู้มีอํานาจสอบสวนการกระทําผิดวินัย เว้นแต่มหาวิทยาลัยจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่นเป็นกรณีๆ ไป”

ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้สภามหาวิทยาลัย ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจากบุคคลภายนอกที่เหมาะสมด้านคุณสมบัติ คุณวุฒิที่สังคมยอมรับ และเป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนทางวินัยนิสิตฯ กรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นำคลิปผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาเผยแพร่ในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทุกคณะ รุ่น ๑๐๕ ทางออนไลน์ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ การจัดทำและเผยแพร่หนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ว่าเข้าข่ายความผิด ตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต กฎหมาย และพระราชบัญญัติจุฬาฯ หรือไม่อย่างไร เมื่อได้ผลการสอบสวนแล้ว ประกาศฐานความผิดและโทษทางวินัยที่ได้รับต่อสาธารณะ

๔. เพื่อเสริมสร้างและรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม ศักดิ์ศรี และความรับผิดชอบในหน้าที่ของผู้บริหารจุฬาฯ ที่ต้องมีอยู่ในระดับสูง ข้าพเจ้าขอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาและประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสอบสวน ผศ. ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต และเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการปลูกฝังคุณธรรมแก่นิสิตเพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ชื่อเสียงและเกียรติคุณของจุฬาฯ เป็นผู้จัดและผู้รับผิดชอบกิจกรรมปฐมนิเทศและการจัดทำหนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อได้ผลการสอบสวนแล้วประกาศผลการสอบสวนต่อสาธารณะ

๕. ขอทราบขั้นตอน กระบวนการ ผลสรุป รายชื่อคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตฯ ที่ทำหน้าที่สอบสวนฯ ฐานความผิดและโทษทางวินัยที่ได้รับว่าทางจุฬาฯ จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป กรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นำคลิปผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ มาเผยแพร่ในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ทุกคณะ รุ่น ๑๐๕ ทางออนไลน์ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ การจัดทำและเผยแพร่หนังสือปิยมหาประชานุสรณ์ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามที่ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งสำนักบริหารกิจการนิสิตได้แจ้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่าสำนวนรายงานผลการสอบสวนฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

๖. อาศัยความในมาตรา ๔๓ วรรค ๑ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ระบุให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลผู้ซึ่งมิใช่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ประเมินคุณภาพการทำงานของส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย

และความในมาตรา ๔๓ วรรค ๒ ในการประเมินดังกล่าว ให้หาข้อมูลจากนิสิตเก่า และบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

ข้าพเจ้าขอสอบถามรูปแบบ และวิธีการที่นิสิตเก่า และบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย จะมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานของส่วนงานต่างๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามหลักการของจุฬาฯ ในมาตรา ๘

๗. ตามที่ปรากฏในเว็ปไซต์จุฬาฯ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะภายใต้แนวคิด “Open to Transparency” ที่ลิงก์ https://www.chula.ac.th/about/overview/transparency/
เนื่องจากลิงก์ “อ่าน การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่อยู่ใต้คำอธิบายอย่างย่อนั้นไม่สามารถเปิดดูได้ (เอกสารแนบ ๓) ข้าพเจ้าขอให้กรุณาแก้ไขปรับปรุงลิงก์ดังกล่าว และขอทราบขั้นตอน กระบวนการเกี่ยวกับ ๒ เรื่องด้านล่างนี้

๗.๑. การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและ ตรวจสอบได้

๗.๒. การ “เปิดโอกาส” ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงาน นิสิตเก่า ผู้ปกครอง ผู้มารับบริการหรือมาติดต่อกับจุฬาฯ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมทั้งลดโอกาสเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ ๒๑ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐)
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น