วันที่ 27 ม.ค.65.-นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดหาแรงงานไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมทำงานในซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565 ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกับขั้นตอนดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ นั้น
ในการเดินทางครั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย ได้หารือทวิภาคีร่วมกับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี (Ahmad Sulaiman ALRajhi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือด้านแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการต่าง ๆ ทั้งธุรกิจโรงแรม สุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่
ซึ่งผลจากการหารือทวิภาคีดังกล่าว ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานแรงงานในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมกับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยจะดำเนินการตามข้อหารือต่อไปเพื่อพิจารณาแรงงานไทยเข้าทำงานตามความประสงค์ของซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแรงงานไทยเข้าทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,345 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และระบบ Re-entry โดยมีตำแหน่งที่เข้าทำงานในหลายประเภท เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น
นายธนกรฯ กล่าวว่า ในเรื่องความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุดีอาระเบียเป็นความท้าทายที่สำเร็จจากความพยายามของรัฐบาลในการปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย กระตุ้นให้บริษัทจัดหาแรงงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานปรับปรุงการจัดหาแรงงานที่เป็นธรรม ไม่โก่งราคา คุ้มครองสิทธิแรงงาน และสวัสดิการให้สอดคล้องกับที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียต้องการ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรี บริษัทจัดหาแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านแรงงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมากขึ้น เพื่อเร่งรัดการดำเนินการจนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การจัดหาแรงงานไทยนั้นต้องทำทันที และต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนภายใน 2 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นแรงงานที่มีศักยภาพ มีความพร้อมของไทย ซึ่งความสำเร็จจากการหารือร่วมกับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากความตั้งใจและความพยายามในการดำเนินการของรัฐบาลไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ไปจะเกิดความร่วมมือในมิติอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อประเทศและประชาชน”