การฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในรอบกว่า 30 ปี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สรุป 9 โอกาสสำคัญที่จะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ ดังนี้ 1.ด้านการท่องเที่ยว 2.ด้านพลังงาน 3.ด้านแรงงาน 4.ด้านอาหาร 5.ด้านสุขภาพ 6.ด้านความมั่นคง 7.ด้านการศึกษาและศาสนา 8.ด้านการค้าและการลงทุน และ 9.ด้านการกีฬา
แต่ด้านที่หลายฝ่ายจับตามองมากที่สุด คือ ด้านแรงงาน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าในอดีตช่วงปี 2515-2530 ก่อนที่ซาอุดีอาระเบียจะตัดสัมพันธ์กับไทย ซาอุดีอาระเบียถือเป็นตลาดแรงงานสำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องจากค่าตอบแทนที่งดงาม โดยค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ได้เงินประมาณเดือนละ 3,000-4,000 กว่าบาท ขณะที่เงินเดือนข้าราชการประมาณ 5,000 กว่าบาทเท่านั้น แต่หากไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย แม้จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ก็ได้เงินเกือบ 8,000 บาทต่อเดือน จึงทำให้บรรดาผู้ใช้แรงงานชาวไทยเก็บเสื้อผ้าแบกกระเป๋ามุ่งหน้าสู่กรุงริยาด ไปรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้าง ช่างซ่อมอุปกรณ์ งานบริการ ฯลฯ เพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงชีพและส่งมาเลี้ยงดูครอบครัวที่แผ่นดินเกิด
ข้อมูลจากสำนักงานแรงงานไทยประจำประเทศซาอุดีอาระเบีย ปี 2515-2530 ตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังซาอุดีอาระเบีย เฉลี่ยปีละจำนวน 200,000 คน สัญญาการทำงานครั้งละ 2 ปี ค่าแรงช่วงปี 2530 เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 2,000 ริยาล บวกค่าโอทีต่างๆอีกจำนวน 2-300 ริยาล รวม 2,300 ริยาล ทำให้ต่อเดือนแรงงานไทย 1 คน ได้รับเงินเดือนราว 15,300 บาท หรือปีละ 183,600 บาท (คิดจากอัตราค่าเงินเมื่อปี 2530 1 ริยาล(ซาอุฯ)=6.67 บาท(ไทย) ถ้าแรงงานไทยทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ปีละ 200,000 คน จะมีค่าแรงรวมต่อปี 36,720 ล้านบาท คำนวณคร่าวๆ หากแรงงานส่งเงินกลับบ้านประมาณ 25% ของรายได้ต่อคนต่อปี ในอดีตมีเม็ดเงินที่ถูกส่งจากแรงงานไทยมาให้ครอบครัวลูกหลานในระดับชุมชน จะมีมูลค่าสูงกว่าปีละ 9,000 ล้านบาท
เมื่อสองประเทศได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ โอกาสนี้จึงกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีนโยบายสำคัญคือ “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030” ซึ่งจะทำให้มีโครงการก่อสร้างตามมาอีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียตั้งเป้านำเข้าแรงงานฝีมือถึง 8 ล้านคน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของแรงงานชาวไทย ที่จะได้กลับไปขุดทองอีกครั้ง
สำหรับตัวอย่างตำแหน่งงานที่มีความต้องการแรงงานไทย โดยข้อมูลจากกรมการจัดหางานระบุดังนี้ วิศวกร พนักงานคอมพิวเตอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง พนักงานบัญชี พนักงานในโรงแรม พ่อครัว (อาหารไทย และอาหารเอเชีย) ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามแฟชั่นช่างตัดเย็บผ้าโต๊บ ช่างออกแบบเครื่องประดับช่างเจียระไนเพชรพลอย ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ และพนักงานขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถตักดิน รถเกรเดอร์
จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน พบว่า ปัจจุบันค่าตอบแทนที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แรงงานไร้ฝีมือจะได้รับเงินเดือนประมาณ 17,800 บาทต่อเดือน หรือเต็มที่ก็ได้ที่ 2 หมื่นกว่าบาท แต่หากเป็นแรงงานฝีมือจะได้ประมาณ 30,000 กว่าบาทต่อเดือน แต่ข้อดีของการทำงานในซาอุดีอาระเบียคือ เรื่องสวัสดิการ จะมีที่พักให้ฟรี มีประกันสุขภาพ มีอาหารตามที่ตกลงกัน
ทั้งหมดเป็นเพียงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงด้านเดียวเท่านั้น ยังไม่นับโอกาสด้านอื่นๆที่จะตามมาอีกมหาศาล จากการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียได้สำเร็จในครั้งนี้