ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบบทลงโทษทางกฎหมายกรณีข้ามทางม้าลายระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุพญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ถูกตำรวจขับบิ๊กไบก์ชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา จนเสียชีวิต
โดย ดร.สามารถ ได้อธิบายทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1.ทำไมจึงต้องเปรียบเทียบบทลงโทษกับญี่ปุ่น? เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ไปเยือนมาแล้ว ได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการข้ามทางม้าลาย ทำให้การเปรียบเทียบเข้าใจได้ง่าย
2.บทลงโทษของไทยไม่รุนแรงเหมือนของญี่ปุ่นจริงหรือ ?
-กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
บทลงโทษของไทยจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือถูกปรับไม่เกิน 50,000 เยน หรือ ประมาณ 15,000 บาท
-กรณีขับรถชนคนข้ามทางม้าลายได้รับบาดเจ็บ
บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน หรือ ประมาณ 300,000 บาท
-กรณีขับรถชนคนข้ามทางม้าลายเสียชีวิต
บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน หรือ ประมาณ 300,000 บาท
จากการเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าบทลงโทษของไทย มีทั้งที่รุนแรงน้อยกว่าและรุนแรงมากกว่าของญี่ปุ่น แต่ทำไมไทยจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าญี่ปุ่นมาก หรือ ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก
3. ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก อาจเป็นเพราะ
– ญี่ปุ่นเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังมากกว่าไทย
-ญี่ปุ่นใช้มาตรการทางวิศวกรรมจราจรอย่างเต็มที่ เช่น สีทางม้าลายชัดเจน มีเครื่องหมายจราจรบนถนนเตือนก่อนถึงทางม้าลาย มีป้ายจราจรที่ชัดเจน มีการทาสีให้เป็นแถบนูน ฯลฯ
-คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคารพกฎ กติกาสังคม
-สอบใบขับขี่ในญี่ปุ่นยากมาก โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นจะใช้เวลาในการอบรมและสอบเพื่อรับใบขับขี่ประมาณ 3 เดือน เสียค่าใช้จ่ายขั้นต่ำประมาณ 100,000 บาท จึงอาจทำให้คนญี่ปุ่นขยาดกับการทำผิดกฎจราจร เพราะเมื่อทำผิดจะถูกพักการใช้ใบขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ก็ได้ ส่วนไทยจะต้องเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถของกรมการขนส่งทางบก หรือที่โรงเรียนเอกชนที่กรมฯ รับรองเป็นเวลา 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 10 ชั่วโมง กรณีอบรมที่โรงเรียนของกรมฯ จะเสียค่าใช้จ่าย 650 บาท ส่วนกรณีอบรมที่โรงเรียนเอกชน จะเสียค่าใช้จ่าย 2,000-6,000 บาท
4. สรุป อุบัติเหตุจราจรในไทยเกิดจากข้อบกพร่องของผู้ขับขี่เป็นส่วนใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ขับขี่ในบ้านเราส่วนหนึ่งไม่เคารพกฎจราจร ด้วยเหตุนี้พวกเราทั้งราษฎร์และรัฐจะร่วมมือร่วมใจกันแก้ขอบกพร่องนี้ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก