นาย อัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ข้อความว่า การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ไม่ใช่เรื่องมุบมิบที่ทำกันปุบปับ อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามตกใจจนตัวเนื้อสั่น แต่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่รัฐบาลดำเนินการมากว่า 6 ปีแล้ว วันนี้เป็นวันศุกร์สุดสัปดาห์ ตนขอสรุปสิ่งที่ผมเขียนโพสต์เรื่องพล.อ.ประยุทธ์ กับการเจริญความสัมพันธ์ไมตรีกับซาอุฯมาตลอดหลายวันที่ผ่านมาอีกครั้ง ความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์กับซาอุฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากความตั้งใจและความพยายามในการดำเนินการของรัฐบาลไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้า เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
นาย อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั้น ในเดือนมกราคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายยังมีการพบหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหารือรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
นาย อัษฎางค์ กล่าวว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มงกุฏราชกุมารและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ยกเลิกความสัมพันธ์กันมานานกว่า 3 ทศวรรษ ผลประโยชน์ที่จะตามมาหลังจากปรับความสัมพันธ์ทางการทูต คือการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องแรงงานนั้น กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ของซาอุดีอาระเบีย ต้องการหาแรงงานดีมีฝีมือ 8 ล้านคน ครอบคลุมในสาขาภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
นาย อัษฎางค์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดหาแรงงานไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมทำงานในซาอุดีอาระเบียแล้ว ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำอะไรแบบมุบมิบทำกันปุบปับ แต่เกิดจากทางรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการวางรากฐานรื้อฟื้นสานความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาต่อมา ก็เป็นจังหวะที่สอดประสานเมื่อทางฝ่ายซาอุดีอาระเบีย มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ของมงกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
นาย อัษฎางค์ กล่าวว่า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มงกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ผู้ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นทราบกันโดยทั่วไปว่า มกุฎราชกุมารพระองค์นี้คือผู้มีอำนาจทางการเมืองตัวจริง โดยทรงอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานพระราชบิดา กล่าวคือ ทรงเป็นผู้มีอำนาจบริหารประเทศแทนพระราชบิดาที่ทรงนั่งเป็นองค์พระประมุขของประเทศเท่านั้น “ทรงเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี” พระองค์เป็นผู้ริเริ่มแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ซึ่งเป็นแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน แล้วหันไปเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ
พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติตะวันตกจากการเดินหน้าปฏิรูปสังคมซาอุดิอาระเบียในหลายด้าน โดยเฉพาะเปิดเสรีแก่สตรีมากขึ้น ท่ามกลางสังคมซาอุฯ ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด
นาย อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า เจ้าชายชัลมาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังที่จะนำพาชาวซาอุดีอาระเบียเดินหน้าสู่ยุคใหม่ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ พระองค์มีแนวคิดที่ต้องการปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นชาติมุสลิมสายกลาง โดยการค่อยๆ แก้กฎหมายเปิดทางให้สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงซาอุดีอาระเบียมากขึ้น ทรงได้รับฉายาว่า “มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์” (Mr.Everything) เนื่องจากทรงเป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของซาอุดีอาระเบียในเวลานี้