นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1) 1.5 เท่า
หลังจากไวรัสโอมิครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก ในการก่อให้เกิดโรคโควิด โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากไวรัสโอมิครอน มีโครงสร้างหนามที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าไวรัสเดลต้า 4-6 เท่า ต่อมาก็พบว่าไวรัสดังกล่าว มีการแยกออกเป็น 3 สายพันธุ์ย่อย (Subvariant) คือ BA.1 , BA.2 , BA.3 โดยที่ขณะนี้ สายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง เป็นสายพันธุ์หลักประมาณ 98% ใน 160 ประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยที่สอง ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2564 และทำท่าว่าจะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง โดยข้อมูลล่าสุด พบในประเทศต่างๆ 54 ประเทศแล้ว โดยมีประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่พบ และในขณะนี้ผู้ติดเชื้อในเดนมาร์กกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่สองแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก และผู้บริหารของสถาบันแห่งชาติเดนมาร์ก ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ผู้ติดโควิดของเดนมาร์กกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสายพันธุ์ย่อยที่สองเป็นสายพันธุ์หลัก
และจากการคำนวณความสามารถเบื้องต้นพบว่า สายพันธุ์ย่อยที่สองแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง 1.5 เท่า และมักจะแพร่ระบาดในเด็กอายุ 5-17 ปี
แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า สายพันธุ์ย่อยที่สอง จะทำให้เกิดโรคที่รุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง
ในขณะที่ประเทศอังกฤษ ได้จัดให้สายพันธุ์ย่อยที่สอง อยู่ในกลุ่มที่จะต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติม (VUI)
โดยพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อสองสายพันธุ์ย่อยนั้นใกล้เคียงกันคือ
ถ้าฉีด 2 เข็ม นานกว่า 6 เดือน จะมีประสิทธิผลเหลือเพียง 9-13%
ถ้าฉีดกระตุ้นเข็ม 3 นาน 2 อาทิตย์หลังจากกระตุ้น จะมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเป็น 63-70% ใกล้เคียงกัน
และยังพบในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และพบในประเทศไทยแล้วด้วยเช่นกัน
จึงสามารถสรุปได้ว่า
1) สายพันธุ์ย่อยที่ 2 แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 มากถึง 1.5 เท่า แต่ความรุนแรงของโรคยังใกล้เคียงกัน
2) ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดจากการฉีดวัคซีน สามารถรับมือกับทั้งสองสายพันธุ์ย่อยได้ใกล้เคียงกัน โดยลดลงจากที่สามารถรับมือกับเดลต้าค่อนข้างมาก
3) พบไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่สองในประเทศไทยแล้ว
กรณีดังกล่าว จะส่งผลให้
1) สายพันธุ์ย่อยที่สอง อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกแทนสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งได้ในเร็ววันนี้
2) ทำให้สามารถพบการติดเชื้อซ้ำ คือ คนที่เคยติดโควิดและหายดีแล้ว ก็สามารถกลับมาติดโควิดซ้ำเป็นครั้งที่สองได้อีก โดยเฉพาะในกรณีต่างสายพันธุ์ย่อย
จึงควรมีความระมัดระวังและมีมาตรการต่างๆได้แก่
1) ประชาชนยังต้องรักษาวินัยในการป้องกันโรคระบาด เพราะสายพันธุ์ย่อยที่สองแพร่เร็วและง่ายกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง
2) ภาครัฐยังไม่ควรส่งสัญญาณให้สาธารณะเข้าใจว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการ Test&Go หรือการคาดหมายว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น
เพราะจะทำให้ความระวังของสาธารณะลดลง เป็นโอกาสให้เกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอนเพิ่มขึ้นมาได้
ปัจจุบัน การติดโควิดในประเทศไทยถือว่าทรงตัว ยังไม่ใช่ช่วงขาลง
3) ควรเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยเร็ว เพราะได้ผลดีกว่า 2 เข็มชัดเจน การตั้งเป้าฉีดเข็มสอง 80% จึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องปรับเป้าหมายเป็นฉีดเข็มสามให้ได้ 80%
4) เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้แก่ ผู้สูงอายุและกลุ่มโรคประจำตัว ให้ได้100% หรือให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลง
5) ทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าโอมิครอนยังอยู่ในสถานการณ์ทรงตัว ไม่ใช่ช่วงขาลง ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการและการระมัดระวังอยู่ในระดับเท่าเดิม
6) ไม่ควรปล่อยให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยเข้าใจว่ามีอาการรุนแรงน้อย เพราะสามารถติดเชื้อซ้ำได้ และบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนเรื้อรังที่เรียกว่า Long Covid