วันที่ 30 ม.ค. 65 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า มีชาวบ้านบริเวณหาดแม่รำพึงได้ร้องเรียนมายังสมาคมฯเป็นจำนวนมาก ขอให้ช่วยเหลือเรียกร้องความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลมาบตาพุดกว่า 400,000 ลิตรนั้นขณะนี้กำลังถูกคลื่นซัดคราบน้ำมันขึ้นมาแผ่กระจายเต็มหาดแม่รำพึง ทำให้พ่อค้า แม่ค้า โรงแรว รีสอร์ท บ้านพัก บังกะโล ธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบกันอย่างรุนแรง จนผู้ว่าฯระยองต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติไปแล้วนั้น
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บหลักฐานข้อเท็จจริงพบว่า มีบริษัทเอกชนผู้ก่อเหตุและหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนได้บูรณาการการเก็บก้อนน้ำมันที่ถูกน้ำทะเลซัดขึ้นมาเต็มชายหาดกันอย่างเต็มที่ โดยมีการนำแท็งค์พลาสติกขนาดใหญ่จำนวนมากมาตั้งรองรับการเก็บซากน้ำมัน ซึ่งซากน้ำมันเหล่านั้นถือว่าเป็น “ของเสียอันตราย” ที่จะต้องมีมาตรการการจัดเก็บและนำไปทำลายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น แต่ทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่าบริษัทผู้ก่อเหตุประสงค์จะนำของเสียซากน้ำมันเหล่านี้ไปกักเก็บทำลายยังโรงงานของตน ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้วเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้เพราะของเสียอันตรายดังกล่าว จะต้องขนย้ายนำไปเก็บสะสมและกำจัดจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 เท่านั้น โดยผู้ที่รับขนส่งนำไปกำจัดจะต้องมีใบอนุญาตตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกํากับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ.2547 และผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกํากับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ.2547 และต้องมีใบอนุญาตโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานลําดับที่ 101 หรือ 106 เท่านั้น ซึ่งต้องถามว่าบริษัทหรือโรงงานผู้ก่อเหตุมีใบอนุญาตเหล่านี้แล้วหรือไม่
การที่บริษัทผู้ก่อเหตุในครั้งนี้จะนำซากน้ำมันของเสียอันตรายที่เก็บมาจากชายหาดแม่รำพึงไปเก็บไว้ที่โรงงานของบริษัทย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่บูรณาการการทำงานเก็บกวาดซากน้ำมันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานฯ อุตสาหกรรมจังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ หากเพิกเฉยปล่อยให้บริษัทผู้ก่อเหตุนำซากน้ำมันออกไปจากชายหาดโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ย่อมเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ได้
ส่วนการเรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายในบริเวณหาดแม่รำพึงและผู้ที่มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรมนั้น ขณะนี้ต้องรอให้การเก็บกู้ซากน้ำมันบริเวณชายหาดแม่รำพึงและทะเลมาบตาพุดให้คลี่คลายไปเสียก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ในการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานของสมาคมฯที่จะนำไปช่วยชาวบ้านอยู่ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ ได้โพสต์แถลงการณ์ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง รัฐต้องเด็ดขาดฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัททำน้ำมันรั่วที่ระยอง
จากกรณีที่เกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วไหลบริเวณทะเลอ่าวมาบตาพุด อ.เมืองระยองกว่า 4 แสนลิตร (ต่อมากรมควบคุมมลพิษคำนวนว่ามี 128 ตันหรือ 1.6 แสนลิตร แต่มีข้อพิรุธ คือ รองผู้ว่าฯระยองกลับอ้างว่ามีเพียง 24,000 ลิตร) โดยบริษัทดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.06 น.ของวันที่ 25 ม.ค.65 พบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัทจริง ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองนั้น
เหตุที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นโศกนาฎกรรมทางทะเลซ้ำในพื้นที่ทะเลระยองอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยองไปกว่า 50,000 ลิตรในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาชีพชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งทำลายสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะหาดเสม็ด หาดแม่รำพึง จนกระทบพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไปทั้งระบบ จนประเมินค่าความเสียหายมิได้
ยังไม่ทันข้ามพ้นทศวรรษปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลระยองกลับมาเกิดซ้ำอีก อันชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของผู้ประกอบการที่อาจหละหลวมต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรการที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) รวมทั้งหน่วยงานอนุญาตและกำกับดูแลทั้งหลาย อาจละเลยหรือไม่เคร่งครัดในการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในมาตรการ ซึ่งต้องไล่เบี้ยมาตั้งแต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ(คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหากจะหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ยังมีอีกมากมายนัก
ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องเลิกปฏิบัติในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ซึ่งชอบที่จะต้องใช้ความเด็ดขาดหรือ “ใช้ยาแรง” โดย กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้อง “เพิกถอนใบอนุญาต” ผู้ประกอบการดังกล่าวทันที และขึ้น “แบล็คลิสต์”ไว้ ส่วนกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 97 แห่ง พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 ในการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งค่าดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันด้วย ฯลฯ ส่วนภาคประชาชน ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท ให้สำรวจความเสียหายไว้ เร็วๆนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะไปตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ เร็วๆนี้