นายธนกร กล่าวว่า ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้รับทราบการจัดลำดับดังกล่าว ชื่นชมถึงการทำงาน และขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานอย่างหนักจนเห็นผลของความสำเร็จ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีระดับต่ำ และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดแต่เปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้จนเห็นแนวทางของการพัฒนาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น และที่ขาดไม่ได้ ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ดูแลตนเอง คนใกล้ชิด และร่วมปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดโดย ศบค. ตลอดมาจนสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
นายธนกร กล่าวอีกว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นถึง 18 ลำดับ นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เนื่องจากสัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชาชน จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มีการผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ที่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วยการใช้มาตรการที่ไม่ต้องกักตัว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้เดินทาง/นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศสามารถลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test & Go ได้ นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
“นายกฯ ยินดีกับผลการจัดอันดับครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทำงานของรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผลความสำเร็จจากความร่วมมือ การบูรณาการ หารือต่าง ๆ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เกิดผลกระทบน้อยสุดต่อประชาชน รวมทั้งต้องประเมินสถานการณ์เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับแนวทางการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ในประเทศ และสถานการณ์ในโลก นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนวางแผนการรับมือกับสถานการณ์อยู่เสมอทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดนเน้นย้ำว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัยให้ได้ เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข แต่ไม่ทิ้งการพัฒนาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างเด่นชัดในเร็ววันนี้ กอปรกับ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต” นายธนกรฯ กล่าว
นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ รายงานการจัดอันดับดังกล่าวประเมินจาก 12 ปัจจัย ใน 3 หมวดหลัก ได้แก่
1. มาตรการและการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาเปิดประเทศ (Reopening process) เช่น สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น
2. สถานการณ์โควิด-19 (COVID Status) เช่น สัดส่วนผู้ป่วยต่อประชากร 100,000 คน สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นต้น
3. คุณภาพชีวิตของประชาชน (Quality of Life) เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดการทางสาธารณสุข และดัชนีการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เป็นต้น