วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,066,983 คน ตายเพิ่ม 10,819 คน รวมแล้วติดไปรวม 400,213,270 คน เสียชีวิตรวม 5,780,480 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน บราซิล รัสเซีย อเมริกา และตุรกีจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.55 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.52
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.68 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.15
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก ภาพรวมการระบาดโลก
ตอนนี้ทวีปเอเชียมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันราวครึ่งหนึ่งของยุโรป แต่เอเชียสูงกว่าอเมริกาเหนือถึง 4 เท่า ทั้งนี้ยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและช่วงพีค และค่อนข้างชัดเจนว่าทวีปเอเชียจะเป็นทวีปท้ายที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของระลอก Omicron
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสสังคมโลก ที่หลายประเทศหันเหไปสู่การยอมเปิดเสรีการใช้ชีวิตเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ ด้วยมุมมองระยะสั้นที่เห็นการติดเชื้อ Omicron ที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนถัดจากนี้ไปคือ จำนวนการติดเชื้อในแต่ละวันหลังผ่านพ้นพีคการระบาดไปนั้นน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าหางของระลอกเดลต้า โดยมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อในกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจะพบกลุ่มติดเชื้อซ้ำมากขึ้นเช่นกันทั้งนี้ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ผลกระทบระยะยาวจากจำนวนติดเชื้อสะสมที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพากำลังคนในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของการใช้ “แรงงาน” และที่ต้องใช้”สมอง”
หลักฐานวิชาการชัดเจนว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แค่ติดเชื้อ-ไปรักษา-หายขาด แต่กลับทำให้เกิดภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ในสัดส่วนที่สูงถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มอาการ ตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อย และอาการรุนแรง