วันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ จ.สงขลา พบหินขนาดเล็กถูกคลื่นซัดขึ้นมากองรวมกันอยู่จำนวนมาก ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจ.สงขลา เช่นที่ชายหาดชลาทัศน์และชายหาดแหลมสมิหลา แหล่งท่องเที่ยวของจ.สงขลา ทำให้บนพื้นทรายตลอดแนวชายหาดกลายเป็นสีดำกระทบกับสภาพภูมิทัศน์ของชายหาด และประชาชนเริ่มสนใจมาหยิบจับดู และเมื่อวานนี้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่16 สงขลาและเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างหินที่พบไปทดสอบ พบว่าเป็นตะกอนหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอนประมาณ 0.3 – 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือที่เรียกว่าหินภูเขาไฟ เป็นหินประเภท หินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลว และแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก
เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นหินภูเขาไฟจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุแหล่งที่มาของหินดังกล่าวได้ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบชนิดและองค์ประกอบ ที่ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 จ.สุราษฎร์ธานี อย่างละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามหินที่พบไม่เป็นอันตรายและยังไม่ส่งผลกระทบกับน้ำทะเลหรือสัตว์ทะเลแต่อย่างใด และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่ากจายอยู่ทั่วไปตลอดแนวชายหาดของจ.สงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของอำเภอสทิงพระ ทั้งต. วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมถึงจากการได้รับรายงานยังพบในพื้นที่อื่นๆด้วยเช่น ชายหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส ชายหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี และชายหาดหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และยังมีบางส่วนที่ลอยอยู่ตามผิวหน้าน้ำทะเลด้วย แต่เป็นหินภูเขาไฟคนละชนิดกับที่นำไปใช้เป็นวัสดุรองปลูกพืชผลหรือไม้ดอกไม้ประดับซึ่งเป็นหินภูเขาไฟบนบก แต่ที่พบบริเวณชายหาดเป็นภูเขาไฟในทะเลยังมีความเค็มหากจะนำไปใช้ก็ต้องแช่น้ำนานๆ
นภาลัย ชูศรี /จ.สงขลา