วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศ ที่สองฝั่งถนนวัฒนาเสถียรสวัสดิ์ หน้าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน จ.นครปฐม ชมพูพันธุ์ทิพย์ ได้มีการออกดอกสีชมพูอร่ามเป็นแนวอุโมงค์ยาวขนานไปกับถนน โดยมีนักท่องเที่ยว ได้เริ่มเข้ามาทำการถ่ายภาพและชมบรรยากาศและชมความงดงามกันอย่างต่อเนื่อง
โดยการบานของดอกชมพูพันธ์ทิพย์ ในรอบนี้เป็นชุดที่ 2 หลังจากมีการออกดอกบานสะพรั่งไปแล้ว 1 รอบ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 65 ซึ่งเป็นช่วงของเทศกาลวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้หยุกพักผ่อนในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลได้เข้ามาชมความงามแล้วครั้งหนึ่ง แต่พบว่าการออกดอกครั้งนี้จะมีสีสวยสดและมีจำนวนมากกว่ารอบแรก ซึ่งคาดว่าจะมีการออกดอกบานอีกครั้งในชุดที่ 3 ของปีนี้
สำหรับการออกดอกในรอบนี้ พบว่าเป็นช่วงตรงกับเทศกาลวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ ซึ่งได้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพบรรยากาศและเซลฟี่เพื่อเก็บเป็นภาพประทับใจ ให้ตรงกับเทศกาลที่เป็นวันแห่งความรัก ทำให้มีทั้งหนุ่มสาวเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งได้มีการขอให้ผู้ที่จะมาท่องเที่ยวได้มีการปฏิบัติตามมาตรการของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอ เนื่องจากช่วงนี้จังหวัดนครปฐม มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ
สำหรับ ชื่อและที่มาต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia rosea (Bertol.) DC. จัดอยู่วงศ์ Bignoniaceae โดยมีชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า Pink Tecoma, Pink Trumpet Tree และ Rosy Trumpet-tree ส่วนในไทยก็มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ชมพูอินเดีย ธรรมบูชา ตาเบบูญ่า และแตรชมพู
โดย ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นต้นไม้เขตร้อนมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนจะมีการนำไปปลูกในประเทศต่าง ๆ โดยหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นผู้นำต้นชมพูพันธุ์ทิพย์เข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 พร้อมกับตั้งชื่อเรียกเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้นำเข้าและสีของดอกว่า ชมพูพันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน UNSEEN ของจังหวัดนครปฐม ในเรื่องการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมความงดงามเหมือนกันได้ไปถึงประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศในเมืองหนาวหลายแห่งด้วย
ปนิทัศน์ มามีสุข/ ปณิดา มามีสุข ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ. นครปฐม