วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษาของประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจ ก่อนจะมีการประกาศปลดโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต หรือ ยูเซ็ป ว่า ขณะนี้เรามีความรู้ความเข้าใจโรคโควิด-19 มีระบบรักษาที่บ้านและในชุมชน สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีหรือมีอาการน้อย โดยสามารถใช้ระบบปกติตามสิทธิรักษาของแต่ละคน เพื่อให้เราสำรองเตียงในระบบยูเซ็ปไว้ให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเอาคนไข้ทุกคนมาอยู่ในโรงพยาบาล เพราะจะไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน โรคที่มีภาวะแทรกซ้อน เพราะผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 1 ราย เข้าไปอยู่ เราต้องปิดทั้งแผนก ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคอื่นได้ อีกทั้งเรามีข้อมูลว่า ผู้ติดเชื้อสามารถอยู่บ้านได้ โดยแทบจะไม่มีติดต่อให้ผู้อื่นเลย ส่วนใหญ่จะติดกันก่อนที่จะรู้ตัวว่าติดเชื้อ แต่หากมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินตามระบบ UCEP คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบ เหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด 6.มีอาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย ก็สามารถใช้สิทธิได้ โดยในส่วนของ สปสช.จะมีการหารือเรื่องสิทธิการรักษานี้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้