วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นให้การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาครั้งแรก (สอบคำให้การจำเลย) ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2564 ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ กับพวกรวม 6 คน กรณีกล่าวหาร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพัก
“สุเทพ” โล่งใจ ทุกข์ทรมานมานาน ก่อนศาลฎีกาไต่สวนนัดแรก คดีโรงพักร้าง ยัน ไม่ได้กระทำผิด บริสุทธิ์ บอกทำทุกอย่างตามมติครม. เชื่อ คดีจบ ในปีนี้
ข่าวที่น่าสนใจ
นายสุเทพ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ชี้แจง ข้อกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว หลังจากถูกสังคมมองว่ามีความผิด ถูกฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ตอนเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ความจริงคดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่การไต่สวนยาวนานถึง 6 ปี และเมื่ออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง พร้อมส่งสำนวนคืนให้กับ ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเอง ศาลนัดแรกวันนี้ จะยื่นคำให้การโดยย่อ จำนวน 31 หน้า เพื่อแสดงให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดี และเชื่อว่าจากนี้คดีจะไม่ยึดเยื้อแล้ว อาจจะใช้เวลา 1-3 เดือน และจะจบภายในปีนี้
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า วันนี้ก็รู้สึกสบายใจขึ้น เพราะทุกข์ทรมานมาหลายปี จะได้ยุติเสียที แนวทางการต่อสู้ จะยืนยันว่า ตนเองไม่ได้กระทำผิดและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่มีเรื่องการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการในยุคนั้น ที่จัดซื้อจัดจ้างโดยแบ่งเป็นภาค ซึ่ง ตนก็เห็นว่าเป็นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีที่สุด ซึ่งพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้นเสนอมา และขณะที่ตนเห็นชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้ขอตั้งงบประมาณ หลังจากนั่นต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งงบประมาณ แทนที่จะทำเป็น 9 โครงการ แต่กลับทำเป็นสัญญาเดียว และต่อมาเมื่อพลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แย้งว่า สัญญาดังกล่าวทำไม่ได้เพราะเข้าข่ายแบ่งซื้อแบ่งจ้างผิดกฎหมาย เนื่องจากร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ออกแล้ว จึงเสนอว่าวิธีการที่ตนเห็นชอบขณะนั้นต้องยกเลิกเปลี่ยนมาทำให้ สัญญาเดียว ซึ่งเมื่อไปตรวจดูพบว่า ร่างสัญญางบประมาณรายจ่ายทำเป็นสัญญาเดียว จึงมีการอนุมัติตามที่ขอมา หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการ การประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขัน 5 ราย ผู้ชนะการประมูล เสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท และต่อมา พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนต่อมา ได้ทำเรื่องเสนอ ยืนยันดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพัสดุ ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้เซ็นต์ลงนามตามเสนอมา จากนั้นตนก็พ้นจากตำแหน่ง และมีการขยายเวลาก่อสร้างอีก 270 วัน
นายสุเทพ กล่าวว่า ในขณะนั้นนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเรื่องนี้มาโจมตีหวังผลทางการเมืองช่วย พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนก็ได้ยื่นฟ้องนายธาริต จนนำไปสู่การตัดสินจำคุกและนายธาริต ก็นำเรื่องนี้ไปยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แต่ทาง ป.ป.ช.ไม่รับฟังพยานบุคคลที่รู้ข้อเท็จจริง เช่น เลขาธิการ และรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และจะนำบุคคลเหล่านี้มาซักค้านใน การต่อสู้คดีนี้ด้วย เพราะอำนาจศาลฎีกาสามารถ เรียกพยานบุคคล เหล่านี้มาให้ปากคำได้ และส่วนหากชนะคดี จะฟ้องกลับ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น อยากให้รอดูตอนจบ อยากให้รอดูตอนจบ รับรองพวกเราจะชอบใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-