วันที่ 17 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดตรังเป็นจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยการขนส่งรับผู้โดยสารในพื้นที่เทศบาลนครตรัง หรือในเขตตำบลทับเที่ยง จะมีรถโดยสารที่มีลักษณะเป็นรถสามล้อ หรือที่เรียกกันว่ารถสามล้อตุ๊กๆ แต่ของจังหวัดตรัง มีรูปร่างที่แปลกว่าที่อื่น คือ เป็นรถตุ๊กๆช่วงหน้า เรียกว่า หักกบ เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก จังหวัดเองก็มักจะนำรูปรถสามล้อตุ๊กๆมาเป็นสัญลักษณ์ในการโปรโมทการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง
เดิมทีเมื่อประมาณปี 2520 จังหวัดตรัง ในเขตเทศบาลนครตรัง มีรถสามล้อตุ๊กๆ ที่วิ่งโดยสารประชาชนและนักท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 500 คัน แต่มาถึงวันนี้ ปี 2565 มีรถสามล้อตุ๊กๆ ที่ยังให้บริการอยู่ประมาณ 50 คัน อันเนื่องมาจากปัญหาต่างๆที่ทำให้รถสามล้อตุ๊กๆแบบหัวกบลดลง เช่น ปัญหาทางเครื่องยนต์ ไม่มีอะไหล่ในการซ่อมเครื่องยนต์ ไม่มีผู้สืบทอดรับอาชีพขับขี่รถตุ๊กๆรับจ้าง ขายให้กับจังหวัดอื่นๆเพื่อนำไปเป็นของที่ระลึกจากจังหวัดตรัง
ดังนั้นนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.ตรัง และผู้มีแนวคิดในการอนุรักษ์และเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเครื่องยนต์รถสามล้อตุ๊กๆหัวกบ ที่มีอายุการใช้งานมาเกือบร้อยปี มาเป็นเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องยนต์ พร้อมกับหาทุนในการสร้างเครื่องยนต์เป็นแบบอย่าง ก่อนที่จะผลิตให้บุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า การจะใช้ตุ๊ก ๆ หัวกบ ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นเป็นรถตุ๊ก ๆ พลังงานไฟฟ้า นั้นจังหวัดตรังมีรถตุ๊ก ๆที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรังที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันประมาณ 20-30 คัน ซึ่งมีความคิดว่าถ้าเรามีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นระบบไฟฟ้าหรือ EV ก็จะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง รวมถึงเป็นการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ใช้รถใช้ถนนใช้ยานยนต์ที่ไร้มลพิษ ซึ่งก็เป็นข่าวดีว่าทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับมหาวิทยาลัย วิทยาเขตตรัง จับมือกันที่จะนำเรื่องของรถตุ๊ก ๆ เปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็น EV หรือ ใช้เครื่องมอเตอร์ไฟฟ้าแทนเพื่อจะลดมลพิษ ซึ่งได้มีการคุย Video Conference กับทางคณะบดีนักวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านก็บอกว่าในส่วนของตุ๊ก ๆ หัวกบของจังหวัดตรังท่านจะให้งบประมาณ 300,000 บาท ที่จะทดลองเอารถตุ๊ก ๆ หัวกบของจังหวัดตรังมาเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือเครื่อง EV จะทดสอบระบบ 2 คันก่อน เพื่อนำร่องในการใช้ ถ้าเกิดว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะมีทุนหรือผู้ประกอบการทางฝ่ายอื่นมาร่วมกับเรา ซึ่งในหลักเกณฑ์มีการพูดคุยกับทางขนส่งจังหวัดแล้วซึ่งตุ๊ก ๆ ที่เปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ข้อหลักใหญ่ ๆ ที่สามารถจดทะเบียนได้ คือ ในเรื่องของความเร็ว ที่จะต้องมีความเร็วมากกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง และในเรื่องการใช้งานจะต้องใช้งานได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที และต้องวิ่งได้ในระยะทางไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร ก็จะเป็น 3 คุณสมบัติหลักของเครื่องยนต์ EV ที่จะปรับเปลี่ยนรถตุ๊ก ๆ ซึ่ง 3 ข้อนี้ทราบว่าทางทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำได้สบายทำได้หมด หมายถึงว่าตัวต้นแบบของระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้าสามารถผ่านเกณฑ์ว่าจะจดทะเบียนได้ ถ้าในเร็ว ๆ ทางเราจะส่งมอบรถตุ๊ก ๆให้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นรถตุ๊ก ๆต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV และมาวิ่งที่จังหวัดตรัง ถือว่าเป็นข่าวดีของจังหวัดตรังที่เราจะปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องกับรถตุ๊ก ๆหัวกบซึ่งเป็นรถสาธารณะที่วิ่งอยู่ในจังหวัดตรังเป็นสัญลักษณ์และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง ทางจังหวัดเองร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานตรังในการที่จะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวใช้บริการตุ๊ก ๆ หัวกบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขณะนี้สิ่งที่เรานำรถตุ๊ก ๆ มาปรับปรุงให้ดูทันสมัยขึ้น ให้ดู ว๊าว! ขึ้น การที่จะให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการซึ่งได้นำออกสื่อไปหลายสื่อสารมวลชนแล้วซึ่งพี่น้องประชาชนต้องรับมาเป็นอย่างดีมาก และตอนนี้มีการจองคิวตุ๊ก ๆ ที่เราปรับปรุงให้ดู ว๊าว! ขึ้น คิวจองไปตลอดเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ ขณะนี้สัญลักษณ์ตุ๊ก ๆหัวกบเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว หมายถึงว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะใช้บริการ เช่า เหมา รถตุ๊ก ๆ หัวกบในการไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดตรัง เป็นการประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนที่มาจะนิยมเซลฟี่กับรถตุ๊ก ๆ หัวกบกับจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว
ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม/จ.ตรัง