ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2558 ทางการไทยพบค่ายกักกันโรฮิงญาที่เขาแก้ว จ.สงขลา ครั้งแรก ครั้งนั้นภาพของการเชื่อมโยงเส้นทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ ในประเทศไทยชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558 มีการค้นพบแคมป์ที่พัก ซึ่งอยู่กลางป่าบนภูเขา พื้นที่ชายแดนรอยต่อไทย-มาเลเซีย อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าเคยเป็นสถานที่ควบคุมชาวโรฮิงญา ซึ่งทางการ คาดว่าเคยมีชาวโรฮิงญา มาพักเพื่อผ่านไปต่อประเทศที่สาม มากกว่า 10,000 คน นอกเหนือจากการค้นพบ “ที่พัก” แล้วยังมีการค้นพบ “หลุมศพ”ชาวโรฮิงญา 36 ศพ ถูกฝังไว้คาดว่าเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร โดยยังพบร่องรอยถูกทำร้ายตามร่างกาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่ง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในขณะนั้น ลงมาสืบสวน และสืบคดีจนพบว่านี่คือขบวนการขนาดใหญ่ มีทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง พล.ต.ต.ปวีณ ทำเอกสารมหาศาลมากกว่า 1 แสนหน้า รัดกุมทุกมิติ จนคนร้ายไม่สามารถดิ้นได้ ก่อนจะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 155 คน (เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน เหลือ 153 คน) โดยในจำนวนนี้ หลายคนเข้ามามอบตัว แต่บางคนก็ทำการหลบหนี หนึ่งในบุคคลที่เป็นตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ คือ พล.ม. มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ที่เป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมค้ามนุษย์ โดยศาลตัดสินให้เขา มีความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 82 ปี และ มีความผิดฐานฟอกเงิน มีความผิด 20 ปี การโดนลงโทษของผู้ใหญ่ในกองทัพ ทำให้ฝั่งทหารมีความเสื่อมเสียอย่างมาก
พล.ต.ต.ปวีณ อธิบายว่า ขบวนการค้ามนุษย์ใหญ่ขนาดนี้ มีการขนคนเข้าน่านน้ำไทยจำนวนมากระดับพันกว่าคน แต่จับนายทหารได้แค่ไม่กี่คน ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะมีคนอยู่เบื้องหลัง พล.ท.มนัสอีก เพราะนายทหารคนเดียว จะคุมทั้งทะเลอันดามัน ไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากติดคุกได้ระยะหนึ่ง พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหาคนสำคัญกลับเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สังคมจึงเกิดคำถามว่า มีการฆ่าตัดตอนใดๆ หรือไม่ แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า พล.ท.มนัส เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว และโรงพยาบาลก็มีกล้องวงจรปิด ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง หรือเสียชีวิตอย่างปริศนาตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด