เกาะติดสารพัดปัญหา การประมูลท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก หลังกรมธนารักษ์ ยุคอดีตอธิบดี ยุทธนา หยิมการุณ ดำเนินการไม่ปกติ จนบริษัท อีสต์ วอเตอร์ ต้องร้องศาลปกครอง ส่งผลที่ประชุมบอร์ดราชพัสดุ 6 ต่อ 4 ชะลอแผนพิจารณา หวั่นผิดกฎหมาย ล่าสุดพบการประมูลฯ ส่อขัดมติครม.ปี 2535 เหตุชี้ชัดให้การประปาส่วนภูมิภาค ตั้งอีสท์วอเตอร์ รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้องจับตาบอร์ดที่ราชพัสดุ นำโดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ว่าจะดึงดัน รับรองผลการประมูลเพื่อเปิดช่องให้เอกชน เข้ารับสัมปทาน จนอาจสร้างความเสียหายแก่รัฐหรือไม่ หลัง “วงษ์สยามก่อสร้าง” จี้กรมธนารักษ์ นัดบอร์ดที่ราชพัสดุ เร่งทบทวนอนุมัติผลประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี
ติดตามการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่งการประมูลครั้งแรก ที่มีนายยุทธนา หยิมการุณ นั่งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ในขณะนั้น พบว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด 173.83 คะแนน ส่วนบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนน 170.10 คะแนน แต่คณะกรรมการคัดเลือก กลับมีมติยกเลิกการประมูลดังกล่าวและให้ประมูลใหม่ โดยอ้างว่า TOR ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับรองไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้กำหนดและพิจารณามีมติรับรอง ก่อนที่จะให้เอกชนเสนอรายละเอียดเข้าร่วมประมูล
ต่อมา ได้มีการเปิดประมูลครั้งที่ 2 ปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งคะแนนต่ำกว่าอีสท์วอเตอร์ ในการประมูลครั้งแรก ได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี มากกว่า ‘อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.84 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ส่งผลให้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 อีสท์วอเตอร์ จึงได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่
ซึ่งแม้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา แต่คดีในส่วนที่บริษัทฟ้องขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่นั้น ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง