นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงบทเรียน 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้อะไรในการพัฒนาประชาธิปไตย ตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบการปกครองของพระเจ้าแผ่นดินภายใต้กฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ไทยมันก็ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ มีรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ค่อยเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านชาวไร่ มีการฉ้อโกง ทหารก็ต้องปฏิวัติรัฐประหาร แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการยึดอำนาจจากรัฐบาล ก็ไม่ได้ทำให้เมืองไทยดีขึ้นเลย สุดท้ายแล้วก็ปรากฏขึ้นทุกครั้ง การฉ้อโกงของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร พลเรือน พ่อค้า นักธุรกิจ ก็มีขึ้นมาเรื่อยๆ 79 ปีผ่านไป มองในแง่นั้นแล้วเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้น เพราะเราไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ เราปล่อยให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำแล้วซ้ำอีก
"อานันท์" สรุปบทเรียน 30 ปี พฤษภา35 ประวัติศาสตร์ยังซ้ำรอย ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนาดีขึ้น ตอบยากมีรัฐประหารอีกหรือไม่
ข่าวที่น่าสนใจ
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า หน้าที่ของรัฐบาลคือ การสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความสามัคคีกับความปรองดอง มันเกิดขึ้นมาจากสูญญากาศไม่ได้ โดยเฉพาะจะให้เกิดหลังจากมีรัฐประหารไปแล้วมันลำบาก ฉะนั้นรัฐบาลที่เข้ามาหลังรัฐประหาร ก็ใช้วิธีการซ้ำซาก จับคนทำโทษ เล่นงานคนด้วยวิธีการต่างๆ แทนที่จะทำให้แต่ละกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างกันนั่งจับเข่าคุยกัน หาทางออกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน มันก็ไม่เกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างมองเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะเกิดวิกฤตในเมืองไทยขึ้นอีก ซึ่งทุกครั้งที่เกิดวิกฤตมันจะหนักกว่าวิกฤตเก่า
ส่วน 30 ปีที่ผ่านมา สรุปแล้วรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งอีกจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้คงตอบยาก ถ้าไปขอร้องให้ทหารอย่ารัฐประหารตนไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตามในทางการเมือง สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม อาจจะต้องมีการปรับหลักสูตรในโรงเรียนต่างๆให้เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. ต้องมีอิสรภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุมต้องมีความโปร่งใส มีความยุติธรรมเสมอภาคเรื่องกฎหมาย และเสียงข้างมากจะต้องเคารพเสียงของคนกลุ่มน้อยด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง