วันที่ 7 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ที่ยังคงพบผู้ได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2562-2565 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ประเภทต่างๆ รวมทั้งนิติบุคคล ประชาชนผู้ใช้แรงงาน ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สถานประกอบการหลายแห่งปิดกิจการไป เนื่องจากต้องรักษามาตรการทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ขณะเดียวกัน จากการติดตามผลกระทบในส่วนของการจัดเก็บภาษีทั้ง 5 ประเภท คือภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีอาการแสตมป์ ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ กลับพบว่าบรรยากาศในการจัดเก็บภาษีอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 13 %
นายอรรถพล ปัจจัย สรรพากรพื้นที่กาฬสินธุ์กล่าวว่า ในภาพรวมของการจัดเก็บภาษีในปี 2564 ในส่วนของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กาฬสินธุ์มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสามารถเก็บภาษีได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 13 % ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้ประกอบการ ห้างร้าน ได้มีการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน ตลอดจนธุรกิจทางด้านการก่อสร้างหรือรับเหมา ที่เข้ามาในระบบมีการขยายตัวมากขึ้น และในส่วนของแหล่งรับซื้อผลผลิตภาคการเกษตร เช่น โรงแป้งมัน โรงงานน้ำตาล โรงงานเอทานอล ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยรับซื้อผลผลิตในราคาสูงและมีปริมาณที่มากขึ้น ขณะที่ในส่วนของการประกอบการด้านเงินกู้ และร้านจำหน่ายจักรยานยนต์ ค่อนข้างจะเก็บได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดยังจะยืนระดับการเก็บภาษีเกินเป้าที่ตั้งไว้ถึงเดือนตุลาคม 2565
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากร ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลหลายรูปแบบ เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ นายจ้าง รวมทั้งประชาชนที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เช่น รีบคืนเงินภาษีให้รวดเร็ว เพื่อนำมาใช้ในการครองชีพและใช้ในระบบมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ย ลดอัตราเบี้ยปรับ จัดโครงการชิม ช็อป ใช้ รายละ 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการทุกประเภทและประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล.
ภาพ/ข่าว ชมพิศ ปิ่นเมือง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กาฬสินธุ์