โดยข้อมูลล่าสุด นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ระบุกับ Top News ว่า วันจันทร์ที่ (7 มี.ค.65) จะขอเข้าพบนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อบรีพข้อมูล และหารือในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่า รมช.คลัง จะสะดวกให้เข้าพบหรือไม่ ต้องนัดก่อน
แต่ส่วนตัวเชื่อว่า สัปดาห์หน้ายังคงไม่มีการนัดประชุมบอร์ดที่ราชพัสดุ เนื่องจากต้องแจ้งกรรรมการตามกฎหมาย ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ส่วนจะนัดประชุมบอร์ดภายในเดือนมี.ค.นี้หรือไม่ นายประภาส ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ต้องรอความเห็นจาก ประธานบอร์ดที่ราชพัสุด (นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง) ท่านจะว่าอย่างไร
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวของ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ทำหนังสือถึงนายสันติ ในฐานะประธานกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อขอความเป็นธรรมโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ขอให้มีการนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
อ้างถึงกรณี กรมธนารักษ์ประกาศผลคัดเลือก บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นเอกชนผู้เข้าบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก ในภาคตะวันออกและได้นำเสนอสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่คณะกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยเสียงข้างมากให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน
บริษัทฯ จึงขอความเป็นธรรมด้วยเหตุผลประกอบ พร้อมใจความสำคัญบางช่วง ระบุว่า
1. บอร์ดที่ราชพัสดุจะมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง คือ เห็นชอบด้วยกับสัญญาฯที่เสนอ หรือไม่เห็นชอบด้วยกับสัญญาฯ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ คณะกรรมการฯ หาอาจที่จะลงมติก้าวล่วงไปในขั้นตอนหรือกระบวนการที่อยู่ภายในอำนาจพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือขององค์กรอื่นได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
2.การประมูล ที่ผ่านมา มีการเข้าสู้ราคาแข่งขันกันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 (ฉบับใหม่) ***** ย้ำว่าฉบับใหม่ เพราะฉบับเดิม อีสวอเตอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล
โดย บริษัทวงศ์สยาม ใช้ข้อความว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (East water) ผู้แพ้ประมูลก็เข้าร่วมประมูลเสนอราคา พร้อมกับนิติบุคคลอื่น แต่ East water แพ้ประมูล เพราะเหตุเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในอัตราต่ำกว่า บริษัท วงษ์สยามก่สร้าง จำกัด หาได้แพ้ประมูล เพราะตกคุณสมบัติหรือขาดโอกาสในการเสนอราคา
ซึ่งในข้อนี้ East water ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงถือว่าเป็นการประมูลฯ สู้ราคากันโดยถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด หากยอมให้ยกเลิกเพิกถอนหรือประวิงการปฏิบัติตามการประมูลแข่งขันที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ East water เรียกร้องได้ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล โดยสุจริตชอบธรรม และถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายด้วย
3. บริษัทวงษ์สยาม ใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์บริษัทคู่แข่งว่า มีพฤติการณ์ ไม่ยอมรับกติกาของสังคม หรือนัยหนึ่ง แพ้แล้วไม่ยอมรับสภาพว่าแพ้ ซึ่งหากยอมรับบังคับให้ตามที่ East water อ้างขอ ย่อมเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร และทำลายกฎเกณฑ์ของสังคมทำลายบทกฎหมาย และยังเป็นต้นแบบให้ผู้แพ้ประมูลทั่วราชอาณาจักรไทยใช้เป็นแบบอย่างในการฟ้องคดีบังคับให้ประมูลกันใหม่ โดยไม่รู้จบสิ้น
“อาศัยเหตุดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้น บริษัทฯ ใคร่ขอความกรุณาจากท่าน ขอได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่บริษัทฯ และเห็นควรทบทวนมติขอได้โปรดทำบันทึกแจ้งต่อเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อยืนยัน ประกอบการนัดประชุมกรรมการฯอีกครั้ง”
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ หนังสือฉบับนี้นอกจากจะเรียกร้องความเป็นธรรมแล้ว มีนัยสำคัญในประเด็นใดบ้าง
1.การชนะประมูลของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นไปตามผลการประมูล ด้วยเงื่อนไข ใหม่ หรือ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่
2.บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ในประเด็นดังกล่าว ไว้ และมติของบอร์ดที่ราชพัสดุ เสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบให้ชะลอการเดินหน้ารับรองผลประมูล จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลปกครอง
3.ในกรณีถ้าบอร์ดที่ราชพัสดุ เดินหน้าเร่งประชุมรับรองผลการประมูล เพื่อให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ได้ดำเนินโครงการมูลกว่า 2.5 หมื่นล้านนี้ จะทำให้มีการฟ้องร้องอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ในขณะที่ศาลปกครองยังมีประเด็นพิจารณาเกี่ยวข้อง คล้ายกับกรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นปัญหาอย่างหนัก และล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว
4.ถ้า บอร์ดที่ราชพัสดุ ดำเนินการตามคำร้องของ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จะทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ กระทบไปถึงภาพลักษณ์รัฐบาลอีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีการนำไปอภิปรายเป็นการทั่้วไปในการประชุมสภาฯรอบที่ผ่านมา โดยนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
ประเด็นใหม่ที่ต้องพิจารณาก็คือ และสังคมต้องรับทราบร่วมกัน ก็คือ ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ที่ผ่านมา มีรายละเอียดที่น่าสนใจว่า
(1) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 บริษัทอีสท์ วอเตอร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในประเด็น ที่เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกของกรมธนารักษ์ โดยบริษัทฯมีความเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม
(2) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของ บริษัทฯ ไว้พิจารณา
(3) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษายกคำขอทุเลาการบังคับของผู้ฟ้องคดี (ไม่รับคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณา)
สำคัญที่สุด คือ (4) ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ยังไม่ได้ยื่นคำให้การต่อศาล โดยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาถึง 5 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ครบกำหนด 3 พ.ย. 2564
ขอขยายไปถึง 3 ธ.ค. 2564
ครั้งที่ 2 ขอขยายไปถึง 2 ม.ค. 2565
ครั้งที่ 3 ขอขยายไปถึง 2 ก.พ. 2565
ครั้งที่ 4 ขอขยายไปถึง 3 มี.ค. 2565
ครั้งที่ 5 ขอขยายไปถึง 2 เมษายน 2565
และนี่้เป็นเหตุผลสำคัญทำให้คำร้อง ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองยังไม่มีข้อยุติ และถือเป็นสิทธิการขอความเป็นธรรม ในมุมของ บริษัทอีสท์ วอเตอร์ ไม่ใช่เรื่อง “ไม่ยอมรับสภาพว่าแพ้” อย่างที่มีการระบุในหนังสือถึงประธานบอร์ดที่ราชพัสดุ ซึ่งบอร์ดราชพัสดุก็ควรนำประเด็นไปพิจารณา ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจน ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง
ทีมข่าว TOP NEWS สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่กลุ่ม ว่า การยื่นฟ้องคดี ของศาลปกครอง ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ วิธีการพิจารณาคดีปกครอง เหมือนเป็นวิแพ่ง วิอาญาของศาล จะกำหนดเรื่องของระยะเวลาให้ตัว ของคู่กรณีอีกฝั่งหนึ่งเป็นฝ่ายทำคำให้การ
โดยปกติถ้าเป็นคำให้การ กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ 30 วัน แต่ทั้งนี้ในระเบียบให้อำนาจในการขยายระยะเวลา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ ถ้าผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถจะยื่นคำให้การได้ทัน ต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลามา และศาลจะพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลา
..แต่ขยายได้นานขนาดไหน ศาลจะเป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งโดยปกติถ้าศาลเห็นว่า ขอขยายระยะเวลานานเกินไป ศาลต้องแจ้งว่ากรณีนี้ อนุญาตให้ขยายได้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นต้น
ทั้งนี้ มีแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบที่ประชุมใหญ่ ว่า ถ้าศาลรับฟ้องแล้ว สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การแก้คำฟ้อง ภายใน 30 วัน ส่วนจะขยายระยะเวลาได้นานขนาดไหน เป็นดุลพินิจศาล
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ศาล จะไม่มีการกำหนดระยะเวลา เพราะเป็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ส่วนศาลปกครอง จะกำหนดประเภทของคดี กรณีที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ก็จะกำหนดเรื่องความเร่งด่วนในคดีเข้าไป เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ ศาลต้องพิจารณาคดีโดยเร็ว แต่ไม่ได้มีกำหนดกรอบเวลาชัดเจน ว่ากี่วันหรือกี่เดือน
ส่วนกรณีถ้าสำนวนคดียังอยู่ในศาล และยังไม่มีคำตัดสินออกมา ผู้ถูกร้องสามารถดำเนินการใดๆ ต่อไปได้ หรือไม่ มีข้อเท็จจริงประกอบว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ยกเลิกเพิกถอน ต้องถือว่าคำสั่งหรือกฎ หรือการกระทำนั้น ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ อันนี้เป็นหลักการของกฎหมายปกครอง คำสั่งหรือกฎที่ออกมาแล้ว ถ้าไม่มีการยกเลิกเพิกถอนโดยหน่วยงานหรือโดยศาล กฎหรือคำสั่งนั้นก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่
หรือ กรณีที่คดียังอยู่ในศาลปกครองกลาง และไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาออกมา และหากผู้ถูกร้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ถ้าเป็นการฟ้องเพื่อขอเพิกถอนกฎหรือคำสั่ง ส่วนใหญ่จะรอคำพิพากษาตัดสินออกมาก่อน ถ้าศาลพิพากษาออกมาอย่างไร ผลก็คือเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทันที ไม่ต้องมีการบังคับ แต่ส่วนใหญ่ที่หน่วยงานจะเทคแอคชั่นคือ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าเป็นเรื่งอคดีฟ้องขอให้ชดใช้เงิน บางทีหน่วยงานไม่กล้าตัดสินใจ ก็จะรอผลคำพิพากษาออกมา หรือคดีสัญญาทางปกครอง ถ้าท้ายที่สุดศาลพิพากษาให้หน่วยงานจ่ายเงินตามสัญญา จึงจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
หรือถ้ามีคำพิพากษา ออกมา โดยหลักต้องรอบังคับตามคำพิพากษา ในกรณีถ้าไม่มีคนอุทธรณ์ก็ดี แต่มีการยื่นอุทธรณ์แล้วศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ให้รอการบังคับจนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน สรุป ถ้ามีคำพิพากษาออกมาแล้วให้รอการบังคับไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (ถ้าศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ การรอผลต้องไปรอผลศาลปกครองสูงสุดตัดสินหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด) แต่ทั้งนี้การดำเนินการของผู้ถูกฟ้อง ต้องดูแต่ละประเภทคดี ต้องดูข้อเท็จจริง