นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ข้อความว่า คดีแตงโม ย้อนเปิดร่างกฎหมายให้อัยการร่วมสอบสวนที่ถูกทำแท้ง ! การที่ผู้คนทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่เกี่ยวข้องออกมาตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยในคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโมมาก รวมทั้งร้องไปที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ โดยเฉพาะในคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยมีเงินทองและเครือข่ายอิทธิพลในระบบอุปถัมภ์ ถึงต้องมีการปฏิรูปตำรวจไงครับ
โดยเฉพาะปฏิรูประบบการสอบสวนในชั้นตำรวจ ซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สมควรให้ตำรวจทำงานเพียงลำพังหน่วยเดียวเหมือนเดิม หรือให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานด้วยตั้งแต่ต้นในคดีที่มีความสำคัญ ตรงไปตรงมาก็คือควรให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนด้วยตั้งแต่ต้นมั้ย แทนที่จะให้นั่งรอสำนวนสอบสวนจากตำรวจเพื่อยื่นฟ้องหรือไม่สถานเดียว ซึ่งมีจุดอ่อน เพราะถ้าเห็นสำนวนไม่สมบูรณ์ แม้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ก็จริง แต่เวลาอาจไม่ทันตามกำหนดที่กฎหมายบังคับไว้ หรือพยานหลักฐานอาจไม่ครบถ้วนเหมือนช่วงเหตุการณ์เกิดขึ้นหมาด ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องเก่าที่พูดกันมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง. (2) บัญญัติไว้ว่า “ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม” ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนในคดีสำคัญเสร็จออกมาจากชั้นกฤษฎีกาตั้งแต่ปลายปี 2561 ตีอต้นปี 2562 แล้ว “ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ….” เป็นกฎหมายปฏิรูปในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายคู่กับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … แต่รัฐบาลไม่ส่งเข้ารัฐสภา เพราะตำรวจคัดค้าน ในขณะที่คู่ของเขาคือร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ถูกส่งเข้าสภาแล้วก็จริง แต่ก็ถูกแก้ไขในประเด็นสำคัญโดยตำรวจเสียไม่น้อย แล้วยังมาถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภาอีกพอสมควร จะอ้างว่าไม่ควรทำเป็นกฎหมายเฉพาะควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทีเดียวเลยดีกว่า ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลไม่แถลงออกมาให้ชัดเจน แล้วทีกรณีกฎหมายฉีดจู๋ฝ่อ หรือชื่อจริงเขาคือร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ล่ะ นั่นก็ใช้รูปแบบตราเป็นกฎหมายเฉพาะเหมือนกัน แถมเร่งรัดเป็นพิเศษอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน