วันที่ 17 มีนาคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” วานนี้ (16 มี.ค.) ระบุว่า เดิมเรามีการกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสโรคนานถึง 14 วัน เมื่อเข้าสู่ยุค โอไมครอน และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว มีภูมิต้านทาน ทำให้ระยะเวลาในการแพร่กระจายโรค หรือติดเชื้อสั้นลง
การศึกษาในญี่ปุ่น https://doi.org/10.3201/eid2805.220197 การติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ตรวจพบเชื้อได้สูงสุดใน น้ำลาย ลำคอหรือโพรงจมูกในช่วง 2 – 5 วัน หลังตรวจพบ หรือมีอาการ เชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะแพร่กระจายโรคจะอยู่นาน 6-9 วัน
การติดต่อของโรคจะเกิดได้สูงในช่วง 7 วันแรก โดยเฉพาะ 2 ถึง 5 วัน หลังตรวจพบหรือมีอาการของโรค การกักตัวในระยะหลัง จึงมีแนวโน้มสั้นลง มาอยู่ที่ 7 วัน ก็สามารถออกจากการกักตัว และให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการแพร่กระจายโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน อยู่ให้ห่างจากบุคคลอื่น ล้างมือลดการจับต้อง เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 วัน
เราจะต้องอยู่กับ covid19 ตลอดไป แนวทางการปฏิบัติตนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุและผล เพื่อให้การกระทบต่อชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด