"แซลมอน ฟาร์ม" ตกเป็นจำเลยบนโลกโซเชียล ชาวเน็ตแชร์สนั่น มีพิษสูง ทำให้ตาบอด อ.เจษฎ์ เบรกแรง เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์
ข่าวที่น่าสนใจ
“แซลมอน ฟาร์ม” แล้ว ฉันทำอะไรผิดก่อน ชาวเน็ตโหมแชร์สะพัด ลือหนัก สารพิษเยอะมาก ทำให้ตาบอดได้ ล่าสุด อ.เจษฎ์ หรือ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ รีบเบรกชาวเน็ตด่วน ๆ ชี้แจงผ่านเพจ Facebook อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า
เรื่องแซลมอนจากฟาร์มนั้นเต็มไปด้วยพิษกลับมาแชร์กันใหม่อีกแล้ว … ไม่ใช่เรื่องจริงนะครับ เป็นการบิดเบือนที่ทำให้คนหวาดกลัว ซึ่งจริง ๆ แล้วมาตรฐานการผลิตนั้นสูงมาก และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่แพ้จากธรรมชาติ (เผลอ ๆ จะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ)
เนื้อหาที่แชร์กันนี้ พูดทำนองว่า “ปลาแซลมอนจากฟาร์ม น่าจะเป็นอาหารที่ปนเปื้อนพิษมากที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตกันขึ้นมา และมันไม่ได้มีสีส้มสวยงามน่ากินเช่นปลาตามธรรมชาติปกติ แต่เนื้อของมันเป็นสีเทา คนเลี้ยงเลยใส่สีเทียมลงไปในอาหารปลา คือ สาร canthaxanthin ซึ่งมันมีส่วนที่เป็นเหตุให้สูญเสียการมองเห็นในมนุษย์ ฯลฯ”
ซึ่งไม่จริงนะครับ ไม่ได้อันตรายอย่างที่ว่า แต่อย่างไร !
- การเพาะเลี้ยงแซลมอนนั้น มีในหลายประเทศทางยุโรปเหนือ ซึ่งมีมาตรฐานการควบคุมการเลี้ยงตามกฎของ EU ให้ออกมาใกล้เคียงกับธรรมชาติ ถูกตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎ EU ทุก ๆ อย่าง รวมถึงการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่าง ๆ ด้วย
- ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยง ก็คือ ลดการทำลายพันธุ์แซลมอนตามธรรมชาติ ที่นับวันจะมีจำนวนประชากรน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้ายังนิยมบริโภคกันขนาดนี้
- อาหารที่ใช้เลี้ยงก็คล้าย ๆ กับอาหารสัตว์น้ำอื่น ๆ ไม่ได้ใส่สารอะไรที่อันตราย แต่เป็นสารอาหารต่าง ๆ ตามที่ปลาควรจะได้รับ
- เนื้อ “แซลมอน” จากฟาร์มไม่ได้เป็นสีเทาอย่างในรูป และที่เราซื้อหากันแล้วเห็นเป็นสีส้มนั้น ก็เป็นเพราะสารอาหารที่ผสมลงไปในอาหารปลา ที่ช่วยให้เนื้อปลาสีส้มเข้มขึ้น ไม่ใช่เพราะเอาเนื้อปลาไปย้อมสี ให้นึกภาพถึงอาหารเลี้ยงไก่ ที่ผสมสารอาหาร แล้วทำให้ไข่ของไก่มีไข่แดงที่สีเข้มขึ้น แต่ยังบริโภคได้โดยปลอดภัย
- กรณีของสาร astaxanthin และ canthaxanthin ที่พูดถึงนั้น ก็เป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ พวกแคโรทีนอยด์ อย่างที่เรากินในอย่างที่เรากินในแครอท ฟักทอง สารพวกนี้สกัดมาจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในธรรมชาติ (สาหร่าย ยีสต์ เปลือกกุ้งปู) ช่วยทำให้เนื้อของปลามีสีส้มมากขึ้น และไม่ได้ก่อมะเร็ง หรือเป็นอันตรายต่อการบริโภค (จริงๆ สารพวกนี้ ก็มีการเอาทำเป็นอาหารเสริม ขายกันด้วยซ้ำ)
- ในด้านความปลอดภัยต่อการบริโภคนั้น ก็จะมีองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่คอยตรวจสอบอยู่ อย่างเช่น ในประเทศนอร์เวย์ก็จะมี คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (VKM) คอยตรวจสอบความปลอดภัยของเนื้อ “แซลมอน ฟาร์ม” และเคยรายงานว่า สารเคมีอย่าง พีซีบี PCB และ dioxin รวมถึงปริมาณของปรอทมีอยู่น้อยมาก เพราะ แซลมอนในฟาร์มเลี้ยงจะกินอาหารที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ มีส่วนประกอบเป็นโปรตีนและน้ำมันจากพืช ทำให้ลดการนำเอาใช้ปลาเล็กน้อยตามธรรมชาติมาเป็นอาหาร (ซึ่งปลาตามธรรมชาตินี้ กลับเป็นที่มาของสารพิษสะสมไว้ในตัว)
- ผลการตรวจของ VKM ยังระบุว่า เราสามารถกินแซลมอนฟาร์ม ได้มากถึงสัปดาห์ละกิโล โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยังแนะนำด้วยว่า จริง ๆ แล้ว คนทั่วไปก็ควรจะกินปลาประมาณ 300 ถึง 450 กรัม/สัปดาห์ด้วยซ้ำ แม้แต่ผู้หญิงท้องก็ทานได้
- เอาเข้าจริง ๆ แล้ว แซลมอนที่จับจากธรรมชาตินั้น ยังมีความเสี่ยงในการพบพยาธิอะนิซาคิส อยู่ในเนื้อปลา มากกว่าจากฟาร์มเลี้ยงที่ควบคุมความสะอาดของอาหารปลา
- พยาธิตัวกลมอานิซาคิสนี้ ไม่ใช่พยาธิที่จะมาวางไข่เพิ่มจำนวนในร่างกายเรา แต่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงได้ โดยอาศัย host เป็นพวกโลมา วาฬ แมวน้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยในทะเล ทำให้แซลมอนแถบขั้วโลกเหนือ มีพยาธินี้แพร่กระจายเยอะ
- ขณะที่ปลาแซลม่อนที่เรานำเข้ามานั้น มักมาจากนอร์เวย์ และประเทศอื่น ๆ ในแถวทะเลเหนือ ซึ่งมีการระบาดน้อยกว่ามาก เพราะ ไม่ค่อยมีโฮสต์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลแถวนั้นมากนัก และแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยง ก็จะกินอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ไม่ได้จะมีไข่หรือตัวอ่อนพยาธิปนเปื้อนมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ปกติแซลมอนที่เรากินกัน มักจะผ่านการแช่แข็งระหว่างที่เดินทางมาเป็นเวลานานแล้ว ถึงมีพยาธิติดมา ก็จะตายหมดแน่ ๆ จึงไม่มีประเด็นต้องกังวลเรื่องนี้ (ถ้าจะกังวล ก็เป็นเรื่องความสะอาด เรื่องเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ของร้านที่ทำขายมากกว่า)
สรุปสั้น ๆ ว่า เนื้อปลาแซลมอนฟาร์มเลี้ยง ไม่ได้เป็นพิษ อย่างที่แชร์กันครับ .. ถ้าไม่กิน ก็บอกได้ครับ จะช่วยกินแทนให้ 55
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-