"IF คือ" ทำไมถึงได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน มือใหม่ต้องเริ่มต้นยังไง? พร้อมแชร์ข้อมูลลดน้ำหนักอย่างไรให้ถูกวิธี ลดไขมัน ลดโรคได้ในที่เดียว
ข่าวที่น่าสนใจ
“IF คือ” ทำไมถึงได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
- IF หรือ Intermittent Fasting เป็นการลดน้ำหนักโดยจำกัดช่วงการกิน โดยจะกำหนดออกเป็น 2 ช่วง คือ การอดอาหาร (Fasting) และรับประทานอาหาร (Feeding) เพื่อลดปริมาณการกินอาหารและลดพลังงานจากอาหารที่ได้รับ
- โดยช่วงที่อดอาหาร (Fasting) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินลดลง ทำให้การกักเก็บไขมันใต้ผิวหนังและน้ำหนักลดลง พร้อมหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) และนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) เพิ่มขึ้น ช่วยให้ร่างกายการเผาผลาญไขมันได้มากขึ้น โดยไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อแต่อย่างใด
การทำ IF จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการคุมแคลอรี และจำกัดเวลากินอาหารไปในตัว ซึ่งนอกจากจะสามารถทำได้ง่ายแล้ว ยังสามารถรูปแบบหลากหลายให้เลือกทำตามความสะดวกอีกด้วย
IF มีรูปแบบไหนบ้าง?
- แบบ Lean Gains : เป็นสูตรยอดนิยมที่สุด โดยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า IF 16/8 (กินอาหาร 8 ชม. และอดอาหาร 16 ชม.) ทำง่าย ไม่ยากจนเกินไป เหมาะกับมือใหม่ที่สุด
- แบบ Fast 5 : กินอาหาร 5 ชม. และอดอาหาร 19 ชม.
- แบบ Eat Stop Eat : การอดอาหาร 24 ชั่วโมง 1 – 2 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนวันที่ไม่ได้อดอาหาร สามารถกินได้ตามปกติ แต่ต้องควบคุมปริมาณสารอาหารให้เหมาะกับร่างกาย
- แบบ 5 : 2 : กินอาหารตามปกติ 5 วัน และกินอาหารแบบ Fasting 2 วัน สามารถเลือกทำ 2 วันติดหรือวันเว้นวันก็ได้ โดยจุดเด่นของวิธีนี้ คือ การลดปริมาณอาหารให้น้อยลงแทน
- แบบ Alternate Day Fasting : เป็นการอดอาหารแบบวันเว้นวัน จัดได้ว่าเป็นวิธีที่หินสุด ๆ เลยทีเดียว มีความคล้ายคลึงกับ IF 5:2 เนื่องจาก วันที่ Fast สามารถกินอาหารแคลอรีต่ำได้ แต่ต้องกินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้อดีของการทำ IF
- ส่งผลดีต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ลดความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลิน อันเป็นสาเหตุเสี่ยงโรคเบาหวาน
- ร่างกายนำไขมันที่สะสมไว้มาใช้
- เพิ่มระบบการเผาผลาญในร่างกาย
- ช่วยลดอาหารกินจุกจิกได้เป็นอย่างดี
- สามารถเลือกไดเดตได้หลากหลายรูปแบบ
ข้อเสียของการทำ IF หากทำผิดวิธี
- เสี่ยงขาดสารอาหาร
- อาจกินอาหารมากเกินไป ก่อนเวลางดอาหาร
- อาจโยโย่ได้ หากไม่ออกกำลังกาย เนื่องจาก IF เป็นเพียงการควบคุมปริมาณแคลอรีเท่านั้น หากต้องการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน ต้องเพิ่มมวลกล้ามเนื้อด้วย
- อาจมีอาการโหยน้ำตาล และอาจทำให้กินของหวานมากกว่าเดิม
ลดน้ำหนักแบบ IF อย่างไรให้ถูกวิธี
- ควรเลือกรูปแบบและเวลาให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรเลือกช่วงเวลากินอาหารตอนดึก ๆ
- กินสารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารคลีน โปรตีนสูง ไขมันต่ำ ผักผลไม้ต่าง ๆ เน้นย้ำว่ายังต้องกิน คาร์โบไฮเดรตอยู่ แต่ต้องเป็นแบบชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
- ลดปริมาณอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรลดมากจนเกินไป จะกลายเป็นการอดอาหารแทน (ทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และโทรม)
- ช่วงที่อดอาหาร (Fasting) สามารถกินอาหารแคลอรีต่ำได้ เช่น น้ำเปล่า หรือกาแฟดำ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
ข้อห้ามสำหรับการทำ IF
- อายุน้อยกว่า 18 ปี
- BMI น้อยกว่า 18
- อายุมาก ให้นมบุตร มีโรคประจำตัว ควรมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
สรุป : “IF คือ” การกำหนดช่วงเวลาในการกินอาหารและงดอาหาร (เป็นการคุมแคลอรีไปในตัว) ซึ่งการทำให้ IF ให้สำเร็จ โดยไม่ทำให้ร่างกายรวนนั้น จะต้องทำควบคู่กับการคุมปริมาณสารอาหารให้เหมาะสม ไม่อดอาหารหรือกินมากเกินไป และต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด ร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อตอบโจทย์การลดน้ำหนักในระยะยาวและยั่งยืนโดยไม่มีการโยโย่นั่นเอง
**หมายเหตุ : การทำ IF จะได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากทำการตรวจระดับวิตามิน แร่ธาตุในเลือด หรือระดับฮอร์โมนในร่างกาย ก่อนทำ
ข้อมูล : โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลกรุงเทพ และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต by หมอท็อป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง