ประเด็นการคัดเลือกเอกชน เพื่อเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จนล่าสุดนำมาสู่การยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ต่อศาลปกครองกลาง ของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการยกเลิกผลประมูลครั้งที่ 1 ทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูล ตามผลรวมคะแนนได้รับสูงสุด นั้น
เมื่อคดีไปถึงศาลปกครองกลางแล้ว ประเด็นพิพาทลักษณะนี้ ควรที่จะต้องรอคำพิพากษาหรือคำตัดสินของศาลก่อนหรือไม่ มาติดตามกับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ความเห็นว่า โดยหลักเมื่อมีคู่กรณี หรือมีผู้ไปฟ้องต่อศาล ผู้มีอำนาจจะระงับการใช้อำนาจนั้นไว้ จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือคำตัดสินออกมาที่ชัดเจนแล้ว เพราะไม่เช่นนั้น หากทำอะไรไป ก็จะกระทบประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจทำให้ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีความกันเพิ่มเติมอีกหลายคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ส่วนเรื่องที่ว่า ระยะหลัง มักจะเห็นปรากฎการณ์แปลกๆ อย่างเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีคดีความค้างอยู่ในศาลเช่นกัน แต่ใช้วิธีการยกเลิกการประมูลไปเลย คิดเห็นอย่างไรสำหรับโครงการรัฐต่างๆ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พยายามฟันธงไปว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยเฉพาะการที่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ข้าราชการอาจจะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง ต้องเดินหน้าตามที่ฝ่ายการเมืองชี้แนะ หรือคาดหวัง หรือต้องการ ทำให้กระบวนการเหล่านี้ผิดฝา ผิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรณีที่ได้ไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในหลายเรื่อง ก็อยู่ในประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ผิดปกติ และเป็นเรื่องที่สามารถจับพิรุธ ได้หมด
โดยฝ่ายการเมืองรู้อยู่แล้วว่า ไทม์ไลน์การอยู่ในตำแหน่งอาจจะไม่ยาว จะยุบสภากันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ช่วงนี้อาจจะใกล้ครบวาระ 4 ปี ฝ่ายการเมืองเลยอาจเร่งรีบหรือกระตุ้นให้ฝ่ายข้าราชการประจำ รีบเร่งในการทำโครงการหรือตัดสินใจอนุมัติโครงการโดยไม่ต้องรอหากมีประเด็นข้อขัดแย้ง จนนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีจะได้ไม่ต้องรอ ตัดสินใจไปเลย
แต่สุดท้าย หากศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ไม่เป็นไปตามที่ผู้อนุมัติ ได้อนุมัติไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่จะเป็นข้าราชการที่ไปยกมือสนับสนุนต่างหาก ที่จะได้รับผลจากการกระทำหรือการใช้อำนาจของตนเอง