วันที่ 1 เม.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณถนนบ้านหนองปอ ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ชาวตำบลบ้านค้อ จัดขบวนแห่ผะเหวด ซึ่งเป็นบุญเดือนสี่ของชาวอีสานที่จัดขึ้นทุกปี แต่ชาวบ้านค้อทำแตกต่ารงจากที่อื่นๆ คือมีหุ่น ชื่อว่าหุ่นเซียงยืน ที่มาจากฝีมือชาวบ้าน 20 หมู่บ้าน กว่า 200 ตัว ร่วมในขบวนแห่ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวบ้านและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา อย่างมากเพราะเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ร่วมขบวนแห่ในปีนี้เป็นปีแรก และถือว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย
โดยมีนางธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญมหาชาติ (บุญผะเหวด) เทศกาลหุ่นเซียงยืน และปล่อยขบวนแห่ไปยังวัดโพธิ์ศรี วัดประจำตำบล เพื่อประกอบกิจกรรมตามประเพณีบุญผะเหวด โดยมีผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยขอนแก่น , สมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น เขต2 , ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยชาวบ้านตำบลบ้านค้อร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยพิธีอัญเชิญพระอุปคุต อัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง โดยศิลปินแห่งชาติ 2 ท่านได้แก่ ป.ฉลาดน้อยและฉวีวรรณดำเนิน โดยขบวนแห่หุ่นเซียงยืน 201 หุ่นจากฝีมือชาวบ้าน 20 หมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสานจัดทำหมู่บ้านละ 10 หุ่นรวม 200 ตัวและยังมีหุ่นที่ใหญ่ที่สุดสูงประมาเกือบ 10 เมตร อีก 1 หุ่นที่สร้างจากจินตนาการที่แตกต่างกันพร้อมขบวนแห่ผ้าผะเหวดที่บอกเล่าเรื่องราความเป็นมาของพระเวสสันดรชาดก โดยมีขบวนกลองวชิระชัย ขบวนฟ้อนรำ ร่วมในขบวน นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา การฟังเทศน์และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ มีชาวบ้าน 20 หมู่บ้านน่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น ภายใต้การป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 อย่างเคร่งครัด
นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ เล่าว่า ประเพณีบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด เป็นประเพณีบุญประจำปีในฮีตสิบสองที่ชาวตำบลบ้านค้อ ธำรงสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ตามคติความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องราวพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว จะได้เกิด ร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย เกิดความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวอยู่เย็นเป็นสุขภายในชุมชน ซึ่งในปีนี้ในการจัดงานบุญผะเหวดของตำบลบ้านค้อ ได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมหุ่นเซียงยืนที่หายไปจากชุมชนเป็นเวลานาน ซึ่งหุ่นเซียงยืน เป็นการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านและบุคคลสำคัญในท้องถิ่นผ่านจิตนาการออกมาเป็นหุ่นลักษณะคล้ายคน
ขณะที่นายสมยง แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวชื่นชมความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านตำบลบ้านค้อที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่มีมาช้านานรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่ของชาวอีสานโดยการจัดงานประเพณี บุญมหาชาติ ที่เราเรียกว่าบุญผะเหวดนี้ แล้วยังมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่เคยมีและได้หายไปจากตำบลบ้านค้อโดยการรื้อฟื้นการนำหุ่นเซียงยืนมาร่วมในขบวนแห่ เพื่อที่จะสืบทอดและส่งต่อวิถีชีวิตจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ รวมทั้งแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชน เป็นกลยุทธ์ที่สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมสู่ลูกหลานได้เป็นอย่างดี.
ภาพ/ข่าว นิติกรณ์ ฝางมาลา ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ขอนแก่น