"มลพิษทางอากาศ" องค์การอนามัยโลกเตือน มลพิษรุนแรงมากขึ้น คาดส่งผลให้เสียชีวิตถึง 7 ล้านรายต่อปี
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ประชากรทั่วโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การฯ กำหนด ถึงแม้ในปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศ จะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ ประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง
องค์การฯ ได้เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่น ๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ ด้านทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ ชี้ว่า ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน การรับมือมลพิษ ทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ ยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงให้เร็วมากขึ้น
อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ยังสามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เองก้ส่งผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด โดยองค์การฯ คาดการณ์ว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ ทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย
ทั้งนี้ องค์การฯ ได้แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-