"ไข้เลือดออก" ภัยเงียบใกล้ตัวคร่าชีวิตคน ที่ตอนนี้อาจถูกมองข้าม โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 เช่นนี้ หากมีอาการเข้าข่ายป่วยหนักต้องทำยังไง? หาคำตอบได้ที่นี่
ข่าวที่น่าสนใจ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราผู้ป่วย “ไข้เลือดออก” ในประเทศไทยมากกว่า 50,000 รายด้วยกัน เนื่องจาก พาหะของโรคนี้มักอาศัยอยู่ภายในบ้าน จากแหล่งอับชื้นและมีน้ำขัง ทำให้อัตราผู้ป่วยสูงขึ้นมากในช่วงฤดูฝน เพื่อเป็นการป้องกันและเป็นแนวทางในการดูแลเบื้องต้น หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายในยุคโควิด-19 แบบนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง? มีรายละเอียด ดังนี้
- มี ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังหรือไม่
- ตรวจ ATK หากผลเป็นลบ ให้สังเกตอาการที่อาจจะรุนแรง เช่น เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องมาก หน้ามืด เป็นลม สับสน ตัวเย็น เป็นต้น (หากผลเป็นบวกให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของโควิด-19 ต่อไป)
- ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน เช็ควันและเวลาการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลให้ดี เนื่องจาก ทางโรงพยาบาลอาจจะตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลตรวจ
- หากผลยืนยันเป็นลบ และไม่มีประวัติเสี่ยงโควิด แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาโรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการไข้ และทำการรักษาตามโรคที่เป็น (ขอให้ท่านทำตามขั้นตอนนี้โดยเคร่งครัด) แจ้งประวัติอาการให้ครบถ้วน ถ้าคนรอบข้างมีอาการเข้าข่ายไข้เลือดออกให้แจ้งทางโรงพยาบาล แพทย์ หรือพยาบาลที่ตรวจด้วย ก่อนจะเข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป
อาการ
- หากผู้ป่วยมีอาการเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงอาการมากนัก มักจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้
- หากผู้ป่วยเคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว อาการส่วนใหญ่จะแตกต่างกันออกไป (หากเชื้อแตกต่างจากครั้งแรก) สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ
ระยะไข้
- ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจาก ไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
ระยะช็อค
- ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
ระยะพักฟื้น
- อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น เริ่มอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว
การรักษา
- ใช้ให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ห้ามให้ยาแอสไพริน เพราะ จะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น
- หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้ยาแก้คลื่นใส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
- คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้ ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อม ๆ กับช่วงที่ไข้ลดลง
- ผู้ปกครองควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อม ๆ กับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ข้อมูล : โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง