"Omicron" ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เทียบชัด ๆ 3 โรค อาการเหมือนหรือต่างกันอย่างไร กรมสุขภาพจิต มีคำตอบแล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
“Omicron” หรือ โอมิครอน โอไมครอน มาแรงจัด จนแทบจะแยกอาการไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ งานนี้ไม่ต้องกังวลไป เพราะจริง ๆ แล้ว มีจุดสังเกตอยู่ ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป เพื่อคลายข้อสงสัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้คำตอบแล้ว
โอมิครอน ไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ อาการแตกต่างกันอย่างไร?
1. โอมิครอนหรือโอไมครอน
การระบาดของโควิด-19 ในปี 2022 นี้ ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก และพบว่าผู้ติดเชื้อเกือบ 50% ไม่แสดงอาการ ส่วนอาการที่พบได้ส่วนใหญ่ มีดังนี้
- มีไข้
- ไอ เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ
- หายใจลำบาก
- ได้กลิ่นลดลง
ส่วนมากแล้วการติดเชื้อโอมิครอน จะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่ได้ลงปอด จึงทำให้อาจพบเจอผู้ป่วยเหล่านี้ปะปนกับคนทั่วไปในที่สาธารณะได้ง่าย แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม ซึ่งมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการลงไปได้มาก ดังนั้น จึงควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายหรือหยิบจับอาหารเข้าปาก
2. ไข้เลือดออก อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ มีดังนี้
- มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-7 วัน แม้จะเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- หน้าแดง
- อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
- มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องและเบื่ออาหาร
หากพบว่ามีอาการไข้ลดลงอย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะ ทำให้เกิดภาวะช็อกจนกระทั่งเสียชีวิตได้ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจอาการและรักษาได้ทันท่วงที
3. ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) อาการมักจะไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป อาการทั่วไปคล้ายกับโควิด-19 ค่อนข้างมาก ดังนี้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
- เบื่ออาหาร
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ
- บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ส่วนข้อแตกต่างที่ยังพอสังเกตได้ คือ ไข้หวัดใหญ่อาจจะไม่มีอาการเจ็บคอ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากในผู้ป่วยโควิด-19 แต่ก็ยังต้องได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันอีกครั้ง หรืออาจจะจำแนกได้ด้วยตัวเองจากการตรวจ ATK
ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง