เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสัตว์ โดยในการพิจารณาวันนี้ได้เชิญตัวแทนกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาชี้แจงในเรื่องการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน ที่พบการระบาดในโค-กระบือ ในพื้นที่ 51 จังหวัด ทำให้มีโค-กระบือ ป่วยสะสม 125,563 ตัว ตายสะสม 3,993 ตัว
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ และเป็นโรคที่มีอัตราการป่วยการตายไม่สูงมาก สามารถรักษาหายขาด และสัตว์ที่ป่วยเมื่อรักษาหายจะมีภูมิคุ้มกัน เนื้อโคกระบือที่ป่วยด้วยโรคนี้มีความปลอดภัย สามารถรับประทานได้ เพราะเชื้อโรคไม่เข้าสู่กล้ามเนื้อ โดยอยู่เพียงผิวหนัง แต่การจะบริโภคนั้นควรต้องปรุงให้สุก ซึ่งโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน การระบาดส่วนใหญ่จะระบาดในภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน
สำหรับมาตรการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการคือควบคุมการเคลื่อนย้าย หากจะเคลื่อนย้ายต้องมีการตรวจและพ่นยาฆ่าเชื้อโรค การกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ ด้วยพ่นสารกำจัดและติดหลอดไฟไล่แมลง ต้องมั่นเฝ้าดูอาการโค-กระบือ หากพบตัวที่สงสัยจะต้องแยกออกจากฝูง กางมุ้งและพ่นยาฆ่าแมลง แล้วแจ้งปศุสัตว์ รวมทั้งรักษาสัตว์ที่เป็นโรค
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการใช้วัคซีนควบคุมป้องกันโรคได้นำเข้ามาแล้ว 360,000 โดส ซึ่งล็อตแรก 60,000 โดสส่งไปทางภาคอีสาน ส่วนที่เหลือกระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทดลองทำวัคซีนจะผลิตวัคซีนต้นแบบได้ในต้นเดือนกรกฎาคม และจะทดสอบเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการผลิตวัคซีนจากพืชที่จะทดสอบได้ในอีก 2เดือน ถือเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินการเร่งด่วนกระทรวงเกษตรได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจะจัดการรณรงค์เร่งด่วน คือจัดรณรงค์กำจัดโรคลัมปี สกิน ด้วยการจัดหน่วยสัตว์แพทย์เคลื่อนที่ จัดหน่วยพ่นสารกำจัดแมลงพาหะ และแจกสารกำจัดแมลงและเวชภัณท์ในการรักษาแผล และยาบำรุงในการดูแลสัตย์ รวมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกร จึงเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถควบคุมโรคนี้ได้ภายใน 4-5 เดือนนี้