เมฆหมอกอึมครึมยังคงปกคลุมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
แม้องค์กรสื่อแห่งนี้ จะได้ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล มาเป็นผอ.สถานีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง
เหตุใดกระบวนการสรรหาจึงเต็มไปด้วยคำถามอันชวนสงสัยก่อเกิดปมพิรุธซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ต่างกับการสรรหาในปี2560
จากปี60 มาถึงปี64 มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาแทบจะชุดเดิม มีประธานกรรมการสรรหาคนเดิม ชื่อ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี และคณะกรรมการนโยบายก็เห็นชอบรายชื่อที่กรรมการสรรหาให้เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสได้คนเดิมจากปี 60 นั่นคือ รศ.ดร.วิลาสินี
ประการสำคัญ บุคคลที่ได้รับเลือกเป็นผอ.ไทยพีบีเอสเป็นบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาก่อนเคยร่วมงานกับ ทพ.กฤษฏา เรื่องอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการสสส. ซึ่งเคยมาเป็นผอ.ไทยพีบีเอสเมื่อปี 2559 โดยที่รศ.ดร.วิลาสินี มาเป็นรองผอ.ไทยพีบีเอส
กระทั่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ไปลงนามซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟกลายเป็นรอยด่างในการบริหารงาน ว่ามีการเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่ ในที่สุดทั้งคู่ต้องตัดสินใจลาออกจากไทยพีบีเอส
แต่แล้ว รศ.ดร.วิลาสีนี ผู้บริหารจากสสส. กลับมาสมัครเพื่อสรรหาผอ.ไทยพีบีเอสอีกครั้งในปี 2560 ทั้งๆที่มีคุณสมบัติสีเทาจากการร่วมลงนามซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ
เหมือนมีพลังงานบางอย่างสร้างความมั่นใจให้ รศ.ดร.วิลาสินี ทำให้ได้รับเลือกเป็นผอ.ไทยพีบีเอสตามคาด ผ่านมาถึงปี 2564 มีการเลือกผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ รศ.ดร.วิลาสินี คงเดินหน้าลงสมัครและได้รับเลือกให้เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส อีกครั้ง ท่ามกลางการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญแน่ แต่เป็นเหตุชวนให้สังคมตั้งคำถาม มีขบวนการวางแผนจัดสรรตำแหน่งกันไว้ล่วงหน้าหรือไม่
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการด้านสังคมซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กรไทยพีบีเอส ผู้เคยปฏิเสธไม่ขอร่วมกรรมการนโยบายในการเลือกผอ.สถานีไทยพีบีเอส เมื่อปี 2560 ให้สัมภาษณ์ท็อปนิวส์ว่า การที่ตนถอนตัวจากการเป็นกรรมการนโยบายคัดเลือกผอ.ไทยพีบีเอส เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ กรณีที่ รศ.ดร.วิลาสินี เป็นหนึ่งในสามคนที่ร่วมลงนามซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ทำหนังสือชี้ให้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมิชอบ การดำเนินงานอนุมัติโครงการที่เกิน 50 ล้านบาทจะต้องเสนอคณะกรรมการนโนบายพิจารณา แต่ช่วงนั้น ที่ ทพ.กฤษฏา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผอ.ไทยพีบีเอส ก็ดำเนินการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ โดยมี รศ.ดร.วิลาสินี ซึ่งเป็นรองผอ.ไทยพีบีเอสขณะนั้น ร่วมลงนามด้วย
รศ.ดร.ณรงค์ ยังได้เปิดเผยถึงการบริหารงบประมาณในไทยพีบีเอสในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ตรวจสอบก็พบว่าไทยพีบีเอสกำลังเผชิญความเสี่ยง
“ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ผมไม่กล่าวหาใคร แต่พูดด้วยสถิติ องค์กรไหนก็ตามถ้ามีความเสี่ยงสูงเกิน 20 เปอร์เซนต์ต้องแก้ไขแล้ว ผมเป็นกรรมการตรวจสอบ พบว่า ความเสี่ยงสูงเกิน 20 เปอร์เซนต์ตลอด เช่นในจำนวนร้อยเรื่อง มีความเสี่ยงสูง 20 เรื่อง เช่น บกพร่องหน้าที่การงาน ความบกพร่องในการดูแลทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ หายไปไหนก็ไม่รู้ เป็นเรื่องกกรรมการต้องคอยมอนิเตอร์ตรวจสอบให้รู้และเสนอ ส่วนแนวทางแก้ไขเป็นหน้าที่ผอ. ถ้าผอ.ไม่เข้ามาแก้ไขก็จะยิ่งเผชิญความเสี่ยงขึ้นไปเรื่อย หรือถ้าผอ.ไม่จริงจังก็อาจทำไปพอเป็นพิธีเท่านั้น “ รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว
รศ.ดร.ณรงค์ ตั้งประเด็นคำถาม สามข้อไปถึงไทยพีบีเอส 1.ไทยพีบีเอสต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณได้รับงบประมาณมาเลี้ยงสถานี สองพันกว่าล้านบาท ซึ่งมาจากภาษีบาป มาจากกลุ่มคนระดับล่าง แล้วไทยพีบีเอสได้สนองตอบกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร เมื่อไทยพีบีเอสรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร คุณมีวิธีการนำเสนออย่างไรให้เข้าถึงคนเหล่านั้น
คำถามที่สอง องค์กรแห่งนี้เผชิญความเสี่ยงสูงเกิน 20 เปอร์เซนต์ ได้รับการแก้ไขให้เกิดความโปร่งใสเพียงใด โดยสมัยที่ผมทำหน้าที่เคยเตือนเคยเสนอไปแล้ว ถามว่า มาถึงวันนี้ได้รับการแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน
“ตอนที่ผมนั่งตรวจสอบ แก้ไขน้อยมาก ความเสี่ยงสูงยังอยู่ระดับ 20 เปอร์เซนต์ตลอด” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำ
สำหรับประเด็นคำถามที่ 3. ไทยพีบีเอส ต้องเคลียร์ตัวเอง เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ภายในไทยพีบีเอสมีการเล่นพรรคเล่นพวก มีความโยงสัมพันธ์กันกับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เป็นพวรรคพวกเลือกกันข้ามา นี่คือข้อสงสัยสังคม กล้าอธิบายได้ไหม จริงหรือไม่จริง
“การที่กรรมการจำนวนหนึ่ง เป็นคนทำงานร่วมกับสสส.มาก่อนใช่ไหม ผอ.ก็เคยใช่ไหม ตอบได้ไหมว่าใช่หรือไม่ อธิบายให้ประชาชนเชื่อได้ไหมว่าไม่เกี่ยวข้องกัน หรือแม้แต่กรรมการสรรหาจำนวนหนึ่งที่ผ่านการรับทุนส.ส.ส.มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผอ.หรือไม่ สังคมบอกว่า กรรมการสรรหาบางคน ไม่ใช่คนเดียวด้วย รับทุนจากสสส.
ฉะนั้น สทท.สามารถปฏิเสธต่อสังคมได้ไหมว่าไม่จริง ถ้าจริง มันมีความสัมพันธ์อย่างไร กรรมการสรรหาบางคน กับการเลือกตั้งผอ. ผมไม่ได้ฟันธงนะ แต่เป็นคำถามที่สังคมโยนมาให้ไทยพีบีเอสตอบ” อดีตคณะกรรมการนโยบายด้านการบริหารจัดการองค์กรไทยพีบีเอส ตั้งคำถามตรงๆถึงผู้บริหารไทยพีบีเอสขณะนี้
ถามว่าไทยพีบีเอสที่สมควรเป็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริงเป็นอย่างไร
รศ.ดร.ณรงค์ เสนอว่า เงินที่ได้มาจากภาษีบาป ภาษีปาบคนรับบาปเป็นใคร ไม่ว่าเป็น บุหรี่ สุรา ร้อยละ 60-70 มาจากคนชั้นล่าง
“เราอาศัยภาษีจากคนชั้นล่างเป็นหลัก เราเคยมีรายการอะไร ที่ให้ความสนใจเขามากน้อยแค่ไหน เราควรจัดรายการพวกนี้มากๆมิใช่ไหรือ ไม่ใช่กระปิดกระปรอย โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง”
“ผมเป็นประธานสี่ปีไม่เกิดผล ผมเป็นสองปีกว่า ไม่เกิดผล มาต่อสี่ปีก็เกิดขึ้นมาบ้าง แต่เวลานำเสนอ ไม่มีศิลปะนำเสนอ เช่นเราจะสอนคน ทำนาอย่างไร ควรเสนอรูปแบบละคร เช่น ละครแม่โพสพ นาคี ช่อง3 เป็นการสอนคน หรือบุพเพสันนิวาส สอนเรื่องประวัติศาสตร์ ละครหลายเรื่องมันอิน ทำไมไม่นำเสนออยางนี้ แต่ไทยพีบีเอสไปไม่เป็น การที่ดึงดูดคนมาดูมากๆทำไม่ได้ “
“เราคิดแบบคนชั้นกลางมากเกินไป แต่เราอยู่ได้จากคนชั้นล่าง ผลการสำรวจ Global New Product Innovation ของนีลเซ็น คนที่จะดูละครของเราส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง เราก็ไม่สนองตอบเขา ตอนนนี้ก็ดีขึ้นบ้างแต่ไม่ถึงเป้าหมาย เวลาบริการคนชั้นล่างเสนออย่างไรกลายเป็นว่า ช่องอื่นทำได้ดีกว่า เช่น ซุปเปอร์เท็น รายการเด็ก เราเน้นเด็กชั้นกลาง”
“ผมเคยพูดตลอดทำไมเราไม่คิดให้เด็กชั้นล่างให้เห็นชีวิตเขาควรทำอย่างไร เป็นหน้าที่สื่อต้องเข้าใจทำเรื่องนี้ แต่เขาไม่คิดอะไรมาก ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรกดดัน ” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงไทยพีบีเอสที่ควรจะเป็น