ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงโดน ม.112 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ?
1.หัวข้อการไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้-ใครเสีย?” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการประดิษฐ์วาทกรรม “วัคซีนพระราชทาน” เพื่อเชื่อมโยงและบิดเบือนให้ร้ายพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่วัคซีนดังกล่าวไม่ได้จัดว่าเป็นวัคซีนพระราชทานแต่ประการใด การแอบอ้างใช้คำว่า “พระราชทาน” ของนายธนาธรจึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา
2.บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกของประเทศอังกฤษ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็น “…บริษัทที่มีในหลวง ร.10 ถือหุ้นอยู่ 100%…” ตามที่นายธนาธรพยายามเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ประการใด
2.1.บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้
2.2.บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485
2.3.บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังการผลิตที่สูงถึง 200 ล้านโดสต่อปี สอดคล้องกับความต้องการผลิตวัคซีนจำนวนมากของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
2.4.บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบาย “ไม่กำไร ไม่ขาดทุน” ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
3.นายธนาธรกล่าวโกหกบิดเบือน “…ตั้งใจตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ไม่ใช่ผลิตวัคซีนนะครับ…”
แม้ว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะไม่ได้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่ก้าวหน้าและทันสมัย สามารถผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงนำมาใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ (Viral vector) ของบริษัทแอสตร้าเซเนก้าได้อีกด้วย
4.นายธนาธรกล่าวด้อยค่าโจมตี “…บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทในเครือ ตั้งแต่ตั้งขึ้นมา เมื่อปี 2552 ยังไม่เห็นบริษัทไหนเลยที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างชัดเจน ทุกบริษัทมียอดขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด…”
การขาดทุนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มาจากการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งมีกำลังการผลิตที่สูงถึงหลายร้อยล้านโดสต่อปี จึงไม่แปลกที่จะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2552 โดยเริ่มการผลิตและการขายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 อีกทั้งยังมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง
นอกจากวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ (Viral vector) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) สำคัญที่ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการรับรองและผลิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง และยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) สำหรับกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวควบคู่กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา และดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ