ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไม่แพ้กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้าน ที่ผ่านมากว่า 1 ปี ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการตามมาตรา 36 รฟม. จนทำให้เกิดผลกระทบมากมายทางเศรษฐกิจ และทำให้ข้าราชการหลายคน กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา สำหรับการประมูลคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า / บริหารระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก หลังจากรมธนารักษ์ ล้มผลการประมูลครั้งที่ 1 และดำเนินการประมูลครั้งที่ 2 แล้วพิจารณาให้ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากกรณีดังกล่าว บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม
ทั้งนี้จุดเริ่มของประเด็นปัญหาทั้งหมด มาจากการที่กำหนดกรอบเวลาให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ประกอบด้วยพื้นที่หลัก ๆ คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง , ตามสัญญาสัมปทานเดิม ภายใต้ความรับผิดชอบของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ คือ ผู้รับผิดชอบโครงการ ในกรอบระยะ 30 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ถูกพิจารณาว่าใกล้จะสิ้นสุด ทำให้ต้องมีการดำเนินการเตรียมจัดหาผู้รับผิดชอบมาดำเนินการในยระยะต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
โดยลำดับขั้นตอนสำคัญของการดำเนินงานในส่วนของกรมธนารักษ์ ปรากฎด้วยไทม์ไลน์เหตุการณ์ดังนี้
– 16 ก.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
– 23 ก.ค.2564 เชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขตามที่กรมธนารักษ์กำหนด จำนวน 5 ราย เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ
– 9 ส.ค.2564 กรมธนารักษ์ เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอ ปรากฎว่ามีเอกชน 3 ราย เข้ายื่นข้อเสนอ โดยบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์ วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้าร่วมด้วย
– 13 ส.ค.64 เอกสารการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีข้อสรุปเห็นชอบการรวมคะแนน ซองข้อเสนอที่ 2 และ 3 ในส่วน อีสท์ วอเตอร์ ได้ 173.83 คะแนน และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนน 170.10 คะแนน
– 26 ส.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหนังสือถึงผู้ยื่นซองข้อเสนอแจ้ง ‘ยกเลิก’ การประมูลโครงการฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564
– 10 ก.ย.64 ออกประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ เป็นครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับปรุงประกาศเชิญชวนฯฉบับเดิม และมีหนังสือเชิญเอกชน 5 รายเดิม เข้าร่วมประชุม
– 23 ก.ย.2564 อีสท์ วอเตอร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป พร้อมขอให้เพิกถอนประกาศ พร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และขอให้ศาลฯมีคำสั่ง ‘คุ้มครองชั่วคราว’ ให้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
– 28 ก.ย.2564 เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอฯ ครั้งใหม่ (อีสท์ วอเตอร์ ระบุไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม-ฟังคำชี้แจง)
– 30 ก.ย.2564 ประกาศผลการคัดเลือก ปรากฎว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ขณะที่อีสท์ วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.84 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างราว 1,480 ล้านบาท
– 15 พฤศจิกายน 2564 อีสท์วอเตอร์ ได้รับคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 แจ้งว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งบริษัทได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลางไว้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 แต่คดีในส่วนที่บริษัทฟ้องขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่นั้น ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางต่อไป โดยปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาใด ๆ ในกรณีดังกล่าว
– 9 ก.พ.65 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ยืนยันที่จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำ EEC ให้บอร์ดที่ราชพัสดุ พิจารณา 11 ก.พ.65 ที่มีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอประโยชน์ตอบแทนสูงสุด
– 11 ก.พ.65 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 4 ชะลอการอนุมัติผลการประมูลท่อส่งน้ำดิบ ใน EEC โดยให้รอคำพิพากษาศาลปกครองก่อน
– 12 ก.พ.65 มีรายงานข่าวว่า กรรมการที่ราชพัสดุ 4 ราย ที่ร่วมประชุมเมื่อ 11 ก.พ.65 เปลี่ยนใจเป็นให้รับรองผลการประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน หลังได้รับข้อมูลเพิ่ม ขณะที่ ‘อธิบดีกรมธนารักษ์’ ระบุ หากมีการเปลี่ยนใจจริง ให้ทำหนังสือแจ้งมา เพื่อนัดลงมติใหม่