เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก มีใจความตอนหนึ่งว่า “ชวนฝ่ายค้านมองไปข้างหน้า สามัคคีคนโค่นเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ทำลายพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ผมไม่ยอมรับเหมือนกับที่หลายคนหลายฝ่ายแสดงจุดยืนกันมาโดยตลอด สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องมีส.ส.ร.จากประชาชนยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการทำประชามติแล้วบังคับใช้ แต่ก็เห็นชัดเจนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นหลักประกันให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถูกปฏิเสธหรือถูกตีตกระหว่างทางอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว”
“จนมาถึงวันนี้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมือง เกิดวิวาทะระหว่างสองพรรคร่วมฝ่ายค้านสำคัญคือ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” สิ่งที่ถกเถียงกันมากประเด็นหนึ่งก็คือการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจาก “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตรสองใบ” แบบรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเรื่องนี้ “พลังประชารัฐ” เขายื่นเข้าสภาไปแล้ว “เพื่อไทย” ก็ยื่นเข้าสภาตามไปเมื่อวันก่อน ส่วน “ก้าวไกล” แสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ชัดเจน เสนอบัตรสองใบ นับคะแนนจัดสรรปันส่วนผสมแบบเยอรมัน ทั้งระดับแกนนำและกองเชียร์ของทั้งสองพรรคต่างแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันไปมา เรื่องนี้ถ้าหากไม่หาข้อยุติดีๆ ทำท่าจะกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ในฝ่ายประชาธิปไตย”
“ในทัศนะของผม ซึ่งถือเป็นมิตรของทั้งสองฝ่าย “เพื่อไทย” นี่บ้านหลังที่เคยอยู่ “ก้าวไกล” ก็เพื่อนมิตรพี่น้องในฝ่ายประชาธิปไตยที่เคยร่วมต่อสู้ร่วมแนวทางต่าง ๆ มาด้วยกัน ผมเห็นว่าทั้งสองพรรคไม่ควรเปิดฉากวิวาทะกันด้วยเรื่องนี้ และไม่ควรจะปล่อยให้ประเด็นนี้ขยายผลลุกลามใหญ่โตไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสาระสำคัญที่สุดในการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการสืบทอดอำนาจของคสช. และหลายประเด็นเป็นอุปสรรคสำหรับระบอบประชาธิปไตย เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แสดงความคิดเห็นไว้ตั้งหลายรอบ ตั้งแต่เขาร่างกันเสร็จและเข้ากระบวนการทำประชามติ ไม่ต้องพูดซ้ำ ตอนเขาทำประชามติ ผมคนหนึ่งล่ะเรียกร้องว่าควรมีบัตรเลือกตั้งสองใบแบบรัฐธรรมนูญปี 40 วันนี้ก็ยังย้ำคำเดิม ไม่กลืนน้ำลาย
แต่วันนี้ผมเห็นว่าบัตรกี่ใบไม่ใช่เรื่องใหญ่ หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ควรบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอีกต่อไป การมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ ไม่ใช่คำตอบให้พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้นไปจากเวทีอำนาจ”
“ถ้าเลือกตั้งแบบบัตรสองใบตามรัฐธรรมนูญปี 40 “เพื่อไทย” มีโอกาสกลับมาแข็งแรงขึ้น ได้ส.ส.มากกว่าเดิม ถ้าเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ นับคะแนนแบบเยอรมัน “ก้าวไกล” ก็มีโอกาสได้ส.ส.มากเท่าเดิมหรือมากกว่า ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะอธิบายหลักการและจุดยืนของตนให้กับประชาชนได้รับทราบ แต่เมื่อประชาชนเข้าใจก็จะเข้าใจพร้อมๆ กับภาพสะท้อนที่ผมได้ชี้ให้เห็น การที่ “เพื่อไทย” จะโหวตเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบตรงกับ “พลังประชารัฐ” แล้วจะไปกล่าวหาว่า “เพื่อไทย” สมคบคิดกับเผด็จการไปแล้วเห็นว่าไม่เป็นธรรม ในระหว่างมิตรไม่ควรตั้งข้อกล่าวหากันถึงขั้นเป็นตายขนาดนี้ ในส่วนของ “พรรคเพื่อไทย” ผมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องไปตอบโต้ “ก้าวไกล” ให้ยาวความ ผมว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องตั้งหลักกันดีๆ การยังคงโต้แย้งกันในประเด็นเหล่านี้จะเปลืองทั้งตัว เปลืองทั้งแรง เปลืองทั้งเวลา สิ่งที่อยากจะเสนอก็คือพรรคฝ่ายค้านในสภาทุกพรรคควรจะตกผลึกทางความคิดแล้วแสดงออกอย่างเป็นเอกภาพ ผลักดันให้กฎหมายประชามติผ่านสภา มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ถึงตรงนั้นจะต้องเดินไปพร้อม ๆ กับการหลอมรวมพลังของภาคประชาชนทุกกลุ่มทุกส่วน ชวนกันทำยุทธหัตถีกับอำนาจคสช. โดยการทำประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีส.ส.ร.จากประชาชนมายกร่างฯ”
“ผมเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะเป็นกระแสสูง จะได้รับการตอบรับจากผู้คนหลากหลาย พรรคฝ่ายค้านมีจุดร่วมสำคัญกันได้ในเรื่องนี้ ความเป็นเอกภาพก็ยังอยู่ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการใช้หอกทมิฬแทงทมิฬ แทนที่พรรคฝ่ายค้านจะเผชิญหน้ากันเองเรื่องระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว บัตรสองใบ จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ประชาธิปัตย์” อย่าง “ภูมิใจไทย” แม้กระทั่ง “ชาติไทยพัฒนา” ต้องแสดงท่าทีและตอบคำถามประชาชนว่าเอาหรือไม่เอาให้มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” เลือกที่จะยืนกับประชาชน หรือเลือกที่จะยืนใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์และเผด็จการคสช.ต่อไป ผมไม่ได้มองโลกสวย ผมเข้าใจดีว่าการลงประชามติให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ เกิดส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเผชิญกับอำนาจรัฐ เมื่อเผชิญกับอำนาจทุน เมื่อเผชิญกับกลเกมของฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่นี่คือสนามใหญ่ที่ทุกคนทุกส่วนจะสู้ร่วมกันได้ และนี่คือเดิมพันใหญ่ที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองของใครกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ แต่คือผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนที่จะเดินหน้าไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ผมคิดว่าลดแรงเสียดทานระหว่างกันตั้งแต่วันนี้ แล้วจับมือกันทำศึกใหญ่ในการทำประชามติดีกว่า”