พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 โพสต์เฟซบุ๊กข้อความว่า “อดทนต่อความเจ็บใจ” เป็นอุดมคติตำรวจบทหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระนิพนธ์ให้ไว้เป็นมิ่งขวัญแก่ข้าราชการตำรวจมาร่วม 66 ปีแล้ว ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จะต้องดุลยพินิจแยกแยะให้ออกระหว่าง “อดทนต่อความเจ็บใจ” กับ การรักษาเกียรติยศ ศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ การรักษากฎหมายซึ่งถือเป็น”ขื่อแปของบ้านเมือง” ไว้ ถ้าถึงขนาดถูกชี้หน้า ต่อว่า ด่าทอ ถุยน้ำลายใส่ การที่ท่านอดทนไม่กระโดดชกหรือตอบโต้ โต้ตอบด้วยประการใดๆ ไปนั้นถือได้ว่าท่านได้อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นไปตามอุดมคติตำรวจโดยสมบูรณ์แล้ว แต่จากการกระทำดังกล่าวทั้งคำพูดและภาษากายเป็นการ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ” หรือไม่นั้นกระผมคงไม่ต้องบอก และท่านควรจะกระทำอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาศักดิ์ศรี เกียรติยศความเป็นตำรวจ และขื่อแปของบ้านเมือง กระผมก็คงไม่ต้องบอกอีกเช่นกัน
เรื่องมีอยู่ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เตรียมให้หญิงผู้เสียหายในคดีล่วงละเมิดทางเพศของอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งกำลังเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ไปรอเพื่อเข้าทำการชี้ห้องเกิดเหตุเพื่อประกอบคำให้การของผู้เสียหายเอง ระหว่างรออยู่นั้นพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าทำการตรวจพิสูจน์ห้องเกิดเหตุจนแล้วเสร็จ ครั้นจะให้ผู้เสียหายเข้าชี้ห้องเกิดเหตุ ทนายฝ่ายผู้ต้องหาไม่ยินยอมหรือมีคำสั่งคุ้มครองจากศาล(ประเด็นนี้จะเป็นความจริงหรือไม่กระผมไม่ทราบ) พนักงานสอบสวนจึงไม่ได้ให้ผู้เสียหายเข้าชี้ห้องที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย… ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 “เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น….”