วันที่ 20 มิถุนายน 2564 คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID – 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ผ่านมาองค์การ ขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
แต่ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 543 เพศชาย อายุ 39 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้พนักงานอยู่ที่ บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาที่ โรงพยาบาลสนาม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ในเวลา 13.00 น.
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ดังต่อไปนี้
1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้ง รายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID – 19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข
2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน เมื่อวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเชียส
โดยไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้
วันที่ 8 มิถุนายน ๒๕๖๔ วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน ณ หมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ดอนเมือง
วันที่ 9 มิถุนายน ๒๕๖๔ ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 543 หมายเลข 1 – 70351 ตั้งแต่เวลา 05.00-12.00น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที โดยมารดาของพนักงาน ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับพนักงาน ได้เดินทางไปที่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อฯ ในสถานที่ทำงานของมารดาพนักงาน
วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 543 หมายเลข 1 – 70351 ตั้งแต่เวลา 05.00-12.00น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้แจ้งให้ทราบว่ามารดาของพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อฯ
วันที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. พนักงานและภรรยาของพนักงาน ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อฯ และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 11.00 น.
วันที่12 – 14 มิถุนายน 2564 พนักงานกักตัวอยู่ที่บ้าน
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 พนักงานกักตัวอยู่ที่บ้าน เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แจ้งผลการตรวจให้ทราบว่า พนักงานและภรรยาของพนักงานไม่พบเชื้อฯ
วันที่ 16 – 17 มิถุนายน 2564 พนักงานกักตัวอยู่ที่บ้าน
วันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. พนักงานและภรรยาของพนักงาน ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อฯ ครั้งที่ 2 และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 11.00 น.
วันที่ 19 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานและภรรยาของพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อฯ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาต่อมาเวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่นำรถพยาบาล มารับพนักงานและภรรยาของพนักงานไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ ๑
3. เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70 % จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) นอกจากนี้ องค์การ ได้พักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 543 จำนวน 1 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ คือรถโดยสาร หมายเลข 1 – 703541 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร
4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 2 คน
ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ ฯ จึงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าวหยุดงาน
ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบ
ต่อไป
ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทาง