(21 เมษายน 2565) พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือเดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และการฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ณ สนามฝึกยิงอาวุธหาดยาวทุ่งโปรง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ สนามฝึกกองทัพเรือหมายเลข 16 บ้านจันทเขลม อ.เขาคิชกูฏ จ.จันทบุรี โดยมี พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันท์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พลเรือตรี สรวุท ชวนะ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตลอดจนข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ให้การต้อนรับ การตรวจเยี่ยมการฝึกของผู้บัญชาการทหารเรือและคณะ มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการรับทราบรายละเอียดการปฏิบัติในการฝึก ขีดความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ ที่เข้ารับการฝึก เพื่อนำสู่การพัฒนาความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการป้องกันประเทศตามภารกิจของกองทัพเรือ รวมถึง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลที่เข้ารับการฝึกอีกด้วย
สำหรับการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) เป็นการฝึกยิงอาวุธต่อเป้าหมายในทะเล ซึ่งในปีนี้ได้จัดให้มีการสนธิกำลังระหว่างยุทโธปกรณ์ของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบ
ความพร้อมรบและขีดความสามารถขององค์วัตถุและองค์ยุทธวิธีในการใช้อาวุธประจำหน่วย เพื่อเพิ่มความชำนาญให้กับกำลังพลในการใช้อาวุธ และสามารถแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติภารกิจได้ อีกทั้งเพื่อทดสอบ การปฏิบัติการร่วมระหว่าง สอ.รฝ. และ นย. ในการใช้อาวุธต่อเป้าหมายในทะเลโดยจัดกำลังเข้ารับการฝึก ประกอบด้วย กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 2 กองพันรักษาฝั่ง ศูนย์ต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่งประจำพื้นที่ ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกครั้งนี้ ได้แก่ ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม. ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40/70 มม. ปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้งขนาด 155 มม. ปืนใหญ่กระสุนวิถีราบขนาด 130 มม. ในส่วนของการสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของกำลังพลส่วนต่าง ๆ ทางยุทธวิธีในสงครามตามแบบ และเพื่อเป็นการทดสอบความพร้อมรบ
ของหน่วยระดับกรม กองพัน หน่วยขึ้นตรง กองพลนาวิกโยธิน ให้เกิดความคุ้นเคย รวมทั้งเพิ่มประสบการณ์ ในการจัดทำแผนการฝึกปัญหาที่บังคับการ การดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง การควบคุมบังคับบัญชา
การประสานการยิงสนับสนุนอากาศ – พื้นดิน การติดต่อสื่อสาร การต่อต้านข่าวกรองของข้าศึก และการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วย ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ชมการตีโต้ตอบและการส่งกลับสายแพทย์
ก่อนทำการยิงอาวุธด้วยกระสุนจริง (ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40/60, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติ 40 มม., MK 19, ปืนกลหนักขนาด .50 นิ้ว, และ ปืนกล เอ็ม 60) ร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ รวมถึง
การฝึกการยิงฉากป้องกันที่มั่นขั้นสุดท้าย โดยกำลังที่เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้จัดจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อาทิ ยานเกราะล้อยางแบบ BTR – 3E1 รถฮัมวี่ติดจรวดต่อสู้รถถัง แบบ TOW 2A RF ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40/60 มม. ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง ขนาด 105 มม. ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด 155 มม. และ ปืนใหญ่สนาม ขนาด 155 มม. (รายละเอียดการปฏิบัติตามบทบรรยาย)
กองทัพเรือได้กำหนดให้หน่วยกำลังรบในทุกระดับ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับหน่วยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของกิจที่ได้รับ จนถึงการบูรณาการกำลังขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน เพื่อฝึกการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์การฝึกตามแผนป้องกันประเทศในแต่ละด้าน โดยกำหนดแนวคิดหลักอ้างอิงจากสถานการณ์ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดไว้ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบ
ในการป้องกันประเทศตามภารกิจของกองทัพเรือแล้วยังเป็นการทดสอบแผนการปฏิบัติ ระบบการควบคุม การบังคับบัญชา ระบบการสื่อสารและระบบการส่งกำลังบำรุงในภาพรวม ตลอดจนเป็นการทดสอบการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติการในสถานการณ์จริงอีกด้วย สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 (การฝึก ทร.65) ในปีนี้ ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ – ความขัดแย้งระดับต่ำ ดำเนินการฝึกในกระบวนการวางแผนทางทหารเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการ รวมถึงการฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแผนป้องกันประเทศ ตลอดจนทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารและแนวทางการใช้กำลัง การอำนวยการยุทธ์ตามแผนที่ใช้ในการฝึก รวมถึงเพื่อทดสอบขีดความสามารถปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ โดยใช้โครงสร้างจริงของหน่วยทุกระดับ ของกองทัพเรือเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดการจัดฝึก “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ของหน่วยกำลังรบและหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน การปฏิบัติการ ซึ่งการฝึกในส่วนของหน่วยกำลังรบทางบกของกองทัพเรือ ประกอบไปด้วย การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) และการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีต่อเรือผิวน้ำของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ในปีนี้ เน้นรูปแบบการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลังน.ย.และ สอ.รฝ. ในการสนับสนุนระหว่างหน่วยทั้งในเชิงข้อมูลและทรัพยากร โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการจริงกรณีเกิดสถานการณ์พิพาทโดยใช้อาวุธ
สมเศียร โชติสนิท ผู้สื่อข่าวTOPNEWS ประจำ จ.จันทบุรี