วันที่ 21 มิถุนายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือ ได้ขอความอนุเคราะห์ สนับสนุนวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับพนักงาน บ.ไทยเบฟ จำนวน 43,201 คน และครอบครัวของพนักงานอีก 28,244 คน นั้น เบื้องต้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเป็นกังวล เนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการจัดส่งวัคซีนไปทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน ก่อนที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง จะทำการจัดสรรวัคซีน ไปยังจุดต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม
สำหรับ คำสั่งของ กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นหนังสือลับแต่อย่างใด หากมากกว่า 2 ฉบับก็ไม่ใช่ความลับแล้ว อีกอย่าง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการยกเลิกไปแล้ว ก็ไม่อยากให้ไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
ส่วน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของญี่ปุ่นนั้น เบื้องต้น รัฐบาลญี่ปุ่น ได้เสนอบริจาควัคซีน ผ่านมายังกระทรวงการต่างประเทศ และส่งมาที่ กระทรวงสาธารณสุข แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษารายละเอียด และข้อมูลบางส่วน คาดว่า ประเทศไทยจะลงนามกลับไป 24 มิ.ย. 64 นี้
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบวัคซีนให้กับทางรัฐบาลไทยนั้น เนื่องจากมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งมีการลงทุนร่วมกันในหลาย ๆ ธุรกิจ จึงมีความผูกพันกันค่อนข้างมาก เชื่อว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การลงทุนร่วมธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดีและมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังมีผู้ติดเชื้อหลักพันนั้น ก็จะต้องดูรายละเอียดในทุก ๆ มิติควบคู่กันไป และจะต้องดูว่า การติดเชื้อในปัจจุบันติดเชื้อในรูปแบบไหน หรือหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลในจุดที่มีการแพร่ระบาดหรือไม่ หรือหากมีการตรวจสอบแล้ว ได้มีการสั่งให้กักตัว หรือวางมาตรการใด ๆ หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องดูว่า ในการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะต้องรอรับนโยบายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เท่านั้น
ส่วนเรื่องการเปิดประเทศนั้น เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้เป็นไปตามนโยบายให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ อีกประมาณ 1-2 วัน จะเรียกประชุมทุก ๆ หน่วย และผู้ตรวจราชการสุขภาพทุกเขต มาหารือกัน ในการรองรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้ได้มากที่สุด ตนขอยืนยันว่า ทุกอย่างจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง หากเกิดปัจจัยลบ ก็จะต้องพิจารณาว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร หรือควบคุมรองรับได้มากน้อยเพียงใด หรือมีความคุ้มค่าไหม หากเทียบกับปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน
ส่วนกรณีที่ หลายคนกำลังกังวลเกี่ยวกับเชื้อโควิดนั้น หากเข้ามาอย่างถูกต้อง หรือเข้ามาตามขั้นตอน ตามระบบของประเทศไทย จะไม่มีทางหลุด หรือเล็ดลอด หรือเชื้อแพร่กระจายอย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่พบอยู่ในขณะนี้คือ กรณีบุคคลหลบหนีเข้าเมือง และไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้มงวดในการดูแลและป้องกันแนวชายแดนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับกรณี จ.สมุทรสาคร ขอเพิ่มวัคซีน เนื่องจาก ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้นั้น จริง ๆ แล้ว การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกประการ ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักที่ทาง นายกฯ และ ศบค. ได้ตั้งสูตรการกระจายวัคซีนให้เป็นบรรทัดฐานไว้ก่อน ยกตัวอย่าง กรณีตนมีเพื่อนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแทบจะทั้งประเทศ หากคนนั้น หรือ คนนี้โทรมาขอวัคซีน หรือทำอะไรที่เกินกว่าขอบเขตกำหนด ก็อาจจะเกิดความเดือดร้อนได้
ขอยืนยันว่า หลังจากนี้ วัคซีนที่ใช้ฉีดให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย จะส่งมาที่ กระทรวงสาธารณสุข ทุกสัปดาห์ และเมื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ ก็จะต้องจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ และสำหรับเดือนนี้ ก็จะมีวัคซีนเข้ามาประมาณ 8,500,000 โดส
ส่วนกรณีที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้ว แต่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้น จริง ๆ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรายงาน และมีการศึกษาทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มีการศึกษาว่า จะต้องฉีดวัคซีนตัวเดียวกันหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการอยู่แล้ว รวมทั้ง รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณจัดซื้อวัคซีนแล้ว ดังนั้น ทั้งหมดทั้งมวลจะต้องทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการ จะทำตามนโยบายของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้